รายงานประจำปีว่าด้วยแนวโน้มประชากรโลก พบว่า เกือบทั้งหมดของการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกเกิดขึ้นในกลุ่มประเทศที่มีฐานะยากจนที่สุด
รายงานประจำปีว่าด้วยประชากรโลกของ Population Reference Bureau หรือทบวงอ้างอิงเกี่ยวกับประชากร ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงวอชิงตัน ระบุว่า กลุ่มประเทศที่มีฐานะยากจนที่สุดในโลกจะเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดและประชากรในวัยเด็กสูงกว่าประเทศอุตสาหกรรมที่มีฐานะร่ำรวย
คุณคาร์ล ฮาว ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้ ชี้ว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรได้เปลี่ยนมาสู่ประเทศยากจนมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ประเทศร่ำรวยมีอัตราการเพิ่มของประชากรลดลง ทำให้ช่องว่างการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกระหว่างประเทศร่ำรวยและยากจนในขณะนี้ ห่างขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ผู้เขียนรายงานเปรียบเทียบอิตาลีกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกว่าในปัจจุบันทั้งสองประเทศมีประชากรใกล้เคียงกัน แต่คาดว่าในปี 2593 อิตาลีจะมีประชากรเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 60 ล้านคนเป็น 62 ล้านคน ขณะที่คองโกจะมีประชากรเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 3 เท่า จาก 67 ล้านคนเป็น 189 ล้านคน เพราะอัตราการเกิดในคองโกสูงกว่าในอิตาลีถึง 5 เท่า
ในรายงานชิ้นเดียวกันนี้ คาดว่า ประชากรโลกจะเพิ่มจาก 6,700 ล้านคนในปัจจุบันเป็น 9,300 ล้านคนในปี 2593 และเชื่อว่าในหลายสิบปีข้างหน้า ประเทศร่ำรวยจำนวนมากจะมีประชากรลดลง ประชากรที่เพิ่มขึ้นในประเทศร่ำรวยเช่นสหรัฐฯ จะเป็นผู้อพยพมากกว่ามาจากอัตราการเกิดที่เพิ่มขึ้น
ทางด้านคุณลินดา เจคอบสัน เจ้าหน้าที่ของ Population Reference Bureau ก็บอกว่าในปี 2593 อินเดียจะแซงจีนขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก เธอกล่าวว่าในปีนั้น จำนวนประชากรอินเดียจะเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่งจากปัจจุบัน ขณะที่จีนจะมีอัตราการเพิ่มของประชากรช้ากว่าอินเดีย
ส่วนประเทศที่ยากจน คาดว่าภายในกลางศตวรรษนี้ ประชากรในทวีปแอฟริกาจะเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็น 2,000 ล้านคน และว่าในประเทศยากจน อัตราการเกิดที่สูงขึ้นและสุขภาพของประชากรที่ย่ำแย่จะไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งพบว่าในหลายๆ พื้นที่ของโลก การคลอดบุตรเป็นสาเหตุสำคัญของการตายของสตรี แต่อัตราส่วนก็จะแตกต่างกันมากในประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศยากจน
คุณฮาว ระบุว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว มีสตรีเพียง 1 ใน 7,300 คนที่เสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ อัตราส่วนจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ต่อ 1,200 คนในเอเชียตะวันออก 1 ต่อ 210 ในแอฟริกาเหนือ 1 ต่อ 61 ในเอเชียใต้ และ 1 ต่อ 22 ในเขตใต้ทะเลทรายซาฮาราของทวีปแอฟริกา
รายงานระบุว่าการแพทย์ที่ดีขึ้นทำให้สตรีมีอัตราการรอดชีวิตจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้จำนวนการตั้งครรภ์ลดลงด้วย และยังพบด้วยว่าครอบครัวที่มีลูกมากพบกับความยากลำบากที่จะหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมาเลี้ยงดูเด็กๆ อย่างเพียงพอ ซึ่งผลจากการขาดสารอาหารในช่วงขวบปีแรกจะมีผลต่อเนื่องไปตลอดชีวิต
ริชาร์ด โชลกิ้น เจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งของ Population Reference Bureau บอกว่าการขาดสารอาหารจะไปหยุดยั้งการเติบโตของเด็ก ทำให้ร่างกายแคระแกรนไม่สมวัยและมีผลไปถึงระดับสติปัญญากลายเป็นผู้ไร้ประสิทธิภาพเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ รายงานชิ้นนี้ชี้ว่าประชากร 1 ใน 5 ในประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในภาวะขาดสารอาหาร และในบางประเทศ