ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงานพิเศษเรื่องโรคเอดส์จากกรุงเม็กซิโกซิตี้


ตัวเลขของมูลนิธิรักษ์ไทยระบุว่า ในเวลานี้ ประเทศไทยมีแรงงานชาวต่างชาติมากกว่า 2 ล้านคน แรงงานเหล่านี้มาจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ พม่า กัมพูชา และลาว

ในจำนวนนี้ประมาณ 80% เป็นแรงงานชาวพม่า และที่เหลือมาจากลาวและกัมพูชาในจำนวนเท่าๆกัน

ประมาณหนึ่งในสี่ของแรงงานเหล่านี้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วกับทางการไทย ซึ่งหมายความว่า คนเหล่านี้สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาล และไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะถูกจับกุมตัวในข้อหาว่าเป็นแรงงานผิดกฎหมาย

คุณบราฮ์ม เพรส เจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทยบอกว่างานที่คนเหล่านี้ทำ เป็นงานที่ไม่มีใครอยากทำ เพราะส่วนใหญ่เป็นงานสกปรก อันตรายและยากลำบาก อย่างเช่น การทำความสะอาดอาหารทะเล งานประมง งานก่อสร้าง การเกษตร งานรับใช้ตามบ้าน และงานตามโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานใกล้ชายแดนที่ติดกับพม่า

เจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทยอธิบายว่า มีสาเหตุหลายอย่างที่ทำให้แรงงานเหล่านี้ตกอยู่ในสภาพเสี่ยงที่จะติดเชื้อ HIV ที่ทำให้เป็นโรคเอดส์ได้ง่ายๆ เริ่มต้นด้วยความรู้เกี่ยวกับโรคนี้จากบ้านเมืองของตน รัฐบาลกัมพูชาประสบความสำเร็จมากกว่าในการให้ข้อมูลเรื่องนี้แก่ประชาชน ในขณะที่รัฐบาลพม่าทอดทิ้ง นอกจากนี้ แรงงานพม่าส่วนใหญ่ยังเป็นชนกลุ่มน้อย ซึ่งไม่ค่อยจะเข้าถึงบริการในด้านนี้อยู่แล้ว

คุณบราฮ์ม เพรส เจ้าหน้าที่โครงการ HIV และโรคเอดส์ของมูลนิธิรักษ์ไทยกล่าวต่อไปด้วยว่า แรงงานเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นเด็กหนุ่มเด็กสาว ที่เมื่อเข้ามาในประเทศไทยแล้ว มักจะมีความสัมพันธ์ทางเพศที่ไม่ปลอดภัย สำหรับผู้หญิงอาจจะมาจากสาเหตุต่างๆกัน เช่น ต้องการหาคนปกป้อง หรือรู้สึกว่ามีเสรีภาพมากขึ้น แต่แรงงานกลุ่มหนึ่งที่คุณบราฮ์มบอกว่า เป็นกลุ่มมีความเสี่ยงสูงมากที่สุด คือกลุ่มชาวประมง ที่เมื่อขึ้นบกแล้ว มักจะดื่มเหล้าเมายาและมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะกับผู้ใดโดยไม่มีการป้องกัน

เจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทยบอกว่า อัตราการติดเชื้อโดยรวมในกลุ่มแรงงานอพยพในประเทศไทย อยู่ราวๆหนึ่งเปอร์เซ็นต์ แต่ในบางพื้นที่ อย่างเช่น ปัตตานี อาจสูงถึง 10%

โครงการป้องกันเชื้อ HIV และเอดส์ในหมู่แรงงานอพยพของมูลนิธิรักษ์ไทย เรียกย่อๆว่า PHAMIT ปัจจุบันให้บริการอยู่ใน 22 จังหวัดในประเทศไทย 10 จังหวัดอยู่ในภาคใต้

ปัญหาเร่งด่วนเรื่องหนึ่งที่คุณบราฮ์ม เพรสเป็นห่วงในเวลานี้ คือชาวพม่าที่อพยพเพื่อหนีสภาพแวดล้อมในประเทศของตน หรือเรียกได้ว่า Economic Refugees กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น เห็นได้จากการที่มีคนข้ามฟากจากพม่าที่แม่สอดเข้าประเทศไทยมากกว่าจำนวนที่กลับออกไป

นอกจากนี้ยังเริ่มมีชาวพม่าที่ใช้เรือเดินทางเพื่อจะไปมาเลย์เซีย หรือเข้าประเทศไทย โดยเฉพาะทางภาคใต้มากขึ้น และเมื่อคำนึงถึงผลกระทบจากพายุนาร์กิสเข้าด้วยแล้ว เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิรักษ์ไทยผู้นี้ คาดว่า ภายในเดือนธันวาคมนี้ จะมีชาวพม่าอพยพเข้ามามากขึ้น

คุณบราฮ์ม เพรสให้ความเห็นว่า วิธีหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องแรงงานอพยพกับการเข้าถึงบริการเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV และการบำบัดรักษาโรคได้ คือ การยอมรับว่า

แรงงานอพยพกลายมาเป็นส่วนถาวรของประเทศไทยแล้ว และยังมีการศึกษาวิจัยที่ระบุว่า แรงงานเหล่านี้ช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกมากกว่าหนึ่งหมื่นหนึ่งพันล้านดอลล่าร์ต่อปี ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อย เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน และไม่เปลี่ยนไปมาในเรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงานอพยพแล้ว ก็จะช่วยแก้ปัญหาที่ว่านี้ได้

XS
SM
MD
LG