ลิ้งค์เชื่อมต่อ

หญิงอินเดียในวรรณะต่ำสุด กำลังจะหลุดพ้นจากอาชีพคนเก็บกวาดขยะ


ในประเทศอินเดีย มีผู้หญิงราวห้าแสนคนทำงานเป็นคนเก็บกวาดชำระล้างสิ่งปฏิกูล ของมนุษย์ออกจากถนนหนทางโดยมีเพียงถังขันและไม้กวาดเป็นเครื่องมือ

การเกิดมาในวรรณะต่ำสุดใน สังคมทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ต้องเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติ แต่มีองค์กรเอกชนองค์กรหนึ่งที่กำลังพยายาม สร้างชีวิต ที่ดีขึ้นให้แก่พวกเธอ และในขณะเดียวกัน ก็พยายามแก้ปัญหาในเรื่องการสุขาภิบาลด้วย

สำหรับประเพณีโบราณที่ยังคงดำเนินอยู่ในอินเดียนั้น ผู้หญิงที่อยู่ในวรรณะต่ำสุดส่วน ใหญ่มักจะทำงานเก็บกวาดขยะหลังจากที่แต่งงานแล้ว ตามอย่างญาติๆ ผู้หญิงของตัวเอง

ลักษมี นันดา หญิงสาวอายุ 27 ปีจากรัฐราชสถาน ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ทำงาน เป็นคนเก็บกวาดขยะมานาน 9 ปี ทุกๆ วันเธอจะต้องเก็บอุจจาระใส่ถังไว้ในขัน แล้วเทินศีรษะเดินไปทิ้ง

ลักษมีบอกผ่านล่ามว่า งานนี้เป็นงานที่สกปรก และไม่มีใครอยากทำ พวกเธอต้องทนทุกข์ทรมาน จากโรคภัย ไข้เจ็บบางอย่าง ถูกเหยียดหยามในสังคม และยังเป็นอาชีพที่ต่ำต้อยมากด้วย

ด้วยความช่วยเหลือของคุณบินเดชวา ปทัค ผู้ก่อตั้งองค์กรบริการสังคมระหว่างประเทศที่ชื่อว่าสุลาภ องค์กรเอกชนที่ใหญ่ที่สุดองค์กรหนึ่งของอินเดีย ผู้หญิงอย่างลักษมีจึงไม่ต้องทำงานนี้อีกต่อไป องค์กรสุลาภ สอนทักษะใหม่ๆ ให้แก่ผู้หญิง เพื่อให้พวกเธอสามารถหางานอื่นๆ ทำได้ อย่างเช่นงานเย็บปักถักร้อย ทำเส้นก๋วยเตี๋ยว หรือของดอง

การขาดโครงสร้างสาธารณนูปโภค ทำให้ผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะในบริเวณชนบทต้องออกมาขับ ถ่ายตามที่สาธารณะ และจำเป็นต้องมีผู้หญิงมาทำความสะอาด แต่คุณบินเดชวา ปทัค ได้พัฒนาอุปกรณ์ ห้องสุขาที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม และราคาไม่แพง แจกจ่ายไปทั่วอินเดียมากกว่า 1 ล้านชุด ซึ่งช่วยปลดปล่อย ผู้หญิงจำนวนมาก จากการเป็นคนเก็บกวาดสิ่งปฏิกูล

คุณบินเดชวากล่าวว่า ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ตอนนี้จึงไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานคนในการเก็บกวาด อุจจาระ และเทคโนโลยียังนำความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่มาสู่สังคมอินเดีย ปัจจุบันผู้หญิงเหล่านั้นได้เป็น นายตัวเอง มีอำนาจในการตัดสินใจ หาเงินเลี้ยงตัวเองให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ มีอาชีพที่มีเกียรติ์และเป็น ส่วนสำคัญในสังคม

ที่องค์กรสุลาภ ผู้หญิงจะได้รับผ้าส่าหรีผื่นใหม่สีฟ้าที่สะอาดสะอ้าน

ลัลตา นันดา อายุ 32 ปี จาก Alwar กล่าวว่าผ้าส่าหรีสีฟ้าซึ่งเป็นเครื่องแบบขององค์กร การใส่เครื่องแบบนี้ทำให้พวกเธอได้รับความยอมรับนับถือในสังคม

คุณบินเดชวา ปาทัค กล่าวว่า องค์กรสุลาภได้ปรับปรุงระบบสุขาภิบาล และลดโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยการติด ตั้งห้องสุขาตามบ้านเรือน และในสถานที่สาธารณะ

คุณบินเดชวาบอกว่า ทางองค์กรการสร้างห้องสุขาในเมือง ในชนบท ในสถานที่สาธารณะ สถานที่ท่องเที่ยว และศาสนสถาน และว่าตอนที่เริ่มต้นสร้างนั้น มีเด็กหลายล้านคนเสียชีวิตจากโรคท้องร่วง การขาดน้ำ และอหิวาตกโรค ปัจจุบันจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงเหลือราว 5 แสนคน

และนอกจากองค์กรสุลาภจะทำงานในอินเดียแล้ว ตอนนี้ทางองค์กรยังมีโครงการในอัฟกานิสถาน บังคลาเทศ ภูฏาน และเนปาลด้วย

XS
SM
MD
LG