ปกติสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติจะมีภูมิคุ้มกันที่สามารถต้านทานเชื้อโรคหรือเชื้อปรสิตต่างๆ ได้ดี และตามธรรมดานั้น โรคระบาดทั่วไปมักจะไม่สามารถทำอันตรายขั้นรุนแรงต่อสัตว์ป่าได้มากนัก แต่รายงานการสำรวจล่าสุดแสดงให้เห็นว่าสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง เช่น ความแห้งแล้งอย่างหนักในอาฟริกา อาจทำให้โรคต่างๆ มีความรุนแรงมากกว่าเดิมและเกิดบ่อยขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น โรคระบาดที่ทำให้สิงโตในแทนซาเนียล้มตายเป็นใบไม้ร่วงเมื่อไม่กี่ปีมานี้
ปัจจุบันทุ่งหญ้าสะวันนาในประเทศแทนซาเนียมีสิงโตอาศัยอยู่จำนวนมากประมาณครึ่งหนึ่งของสิงโตทั้งหมดที่หลงเหลืออยู่บนโลก ศาสตราจารย์ Craig Packer ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยรัฐมินเนโซต้า เฝ้าศึกษาชีวิตของสิงโตในอุทยานแห่งชาติ Serengeti ในแทนซาเนียมาร่วม 30 ปี และเคยเห็นเหตุการณ์ที่สิงโตจำนวนมากป่วยและตายอย่างไร้สาเหตุเมื่อปี คศ.1994 ด้วย
ศาสตราจารย์ Packer เล่าเหตุการณ์เมื่อ 14 ปีที่แล้วว่า สิงโตนับพันตัวล้มตายในช่วงเวลาสั้นๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและเหตุการณ์ทำนองเดียวกันได้เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อปี ค.ศ 2001 หรือเมื่อ 7 ปีที่แล้วนี่เอง
หลังจากนำเลือดสิงโตไปพิสูจน์ อาจารย์ Packer พบว่าการที่สิงโตล้มตายเป็นจำนวนมากครั้งนั้นมีสาเหตุมาจากโรคระบาดเนื่องจากการติดเชื้อไวรัสที่เรียกว่า canine distemper ที่มักจะเป็นกับสุนัขเลี้ยง จะมีลักษณะคล้ายโรคหัดคือหลังจากได้รับเชื้อแล้ว ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเองเพื่อป้องกันเชื้อโรคที่ว่านี้ในอนาคต แต่นั่นหมายความว่าสัตว์ที่ป่วยด้วยโรค distemper จะต้องรอดชีวิตจากโรคระบาดนี้ให้ได้เสียก่อนนะครับ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยาผู้นี้ยังบอกอีกว่า ปกติโรคระบาด distemper จะเกิดในอุทยานแห่งชาติ Serengeti ทุกๆ 6-7 ปี และเป็นเรื่องธรรมดาที่สิงโตจะได้รับเชื้อดังกล่าว แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการผิดปกติแต่อย่างใด พูดง่ายๆ ก็คือโดยปกติแล้ว โรคที่ว่านี้จะไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรค canine distemper เมื่อปี 1994 และ 2001 ทำให้ 1 ใน 3 ของสิงโตที่ติดเชื้อต้องล้มตาย กลายเป็นโรคระบาดที่ลุกลามอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งศาสตราจารย์ Packer เชื่อว่าสาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากภาวะแห้งแล้งรุนแรงก่อนหน้าที่จะเกิดโรคระบาดดังกล่าว สัตว์มากมายโดยเฉพาะควายป่าที่เป็นอาหารของสิงโตต้องล้มตายจำนวนมากเนื่องจากความแห้งแล้ง นำมาซึ่งเชื้อปรสิตจากแมลงดูดเลือดที่เรียกว่า บาเบเซีย ที่เป็นพาหะนำโรคต่างๆ เช่น โรคโลหิตจาง อาการตกเลือด และอาการจับไข้ หนาวสั่นคล้ายโรคมาลาเรีย นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ Packer เปรียบเทียบสิงโตที่เป็นโรค canine distemper ว่าจะมีอาการคล้ายกับคนที่เป็นโรคเอดส์
ที่ว่าคล้ายโรคเอดส์ก็เพราะเชื้อไวรัสตัวนี้จะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ทำให้ร่างกายรับเชื้อโรคอื่นๆ ได้ง่าย ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยรัฐมินเนโซต้าผู้นี้ยังบอกอีกว่า แม้ประชากรสิงโตจะค่อยๆ กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในเวลาไม่กี่ปีหลังจากเกิดโรคระบาด แต่ในขณะเดียวกัน โรคร้ายแรงชนิดนี้ก็จะย้อนกลับมาใหม่ในอัตราที่ถี่กว่าเดิม หากสภาพภูมิอากาศโลกยังเป็นเช่นนี้ต่อไป
ศาสตราจารย์ Craig Packer ระบุว่าอากาศที่ยิ่งแปรปรวนมากขึ้นกว่าเดิม อาจส่งผลให้เกิดอุทกภัยหรือภัยแล้งครั้งใหญ่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และในอนาคตโรคระบาดต่างๆ ก็จะเลวร้ายมากยิ่งขึ้น และอาจถึงขั้นรวมตัวกันเป็นโรคใหม่ที่มีพิษภัยมากกว่าเดิมเป็นทวีคูณก็เป็นได้ ถึงเวลานั้นก็ไม่แน่ว่า เหยื่อของโรคระบาดนี้จะมีแค่สิงโตเท่านั้นหรือเปล่า