ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงานสุขภาพเรื่องโรคมะเร็งเต้านม และอากาศเป็นพิษ


การออกกำลังกายทำให้ผู้หญิงเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งที่เต้านมน้อยลง และอากาศที่สกปรกเป็นพิษ ทำให้โลหิตจับตัวเป็นลิ่มได้ ซึ่งอาจทำให้ถึงตายได้

ข้อมูลบ่งชี้ว่า ผู้หญิงผู้ออกกำลังกาย เป็นโรคมะเร็งที่เต้านมไม่บ่อยนัก การออกกำลังกายมีส่วนสัมพันธ์กับการเป็นโรคมะเร็งที่เต้านมไม่บ่อยครั้งนัก อย่างไรยังไม่ทราบชัด แต่ขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาโรคระบาด เกรแฮม โคลดิตช์ แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ที่นครเซนตหลุยส์ รัฐมิสซูรี และเพื่อนร่วมงานของเขา ศึกษาข้อมูลจากการศึกษาวิจัยสุขภาพของพยาบาล ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยขนาดใหญ่ ซึ่งติดตามศึกษาสุขภาพของนางพยาบาล นับหมื่นๆคนเป็นเวลาหลายสิบปี และได้ข้อมูลอย่างพอเพียงที่จะระบุได้อย่างแน่นอนยิ่งขึ้นว่า การออกกำลังกายลดการเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งที่เต้านมในหมู่ผู้หญิงที่ยังมีประจำเดือน

คุณ เกรแฮม โคลดิตช์ และคณะ ได้ข้อมูลเกี่ยวกับแบบแผนการออกกำลังกายในหมู่ผู้หญิงราว 65,000 คน แล้วก็ติดตามศึกษาพวกเขาต่อไปอีก 6 ปี เขากล่าวว่า เมื่อ 6 ปีผ่านไป ผู้หญิงผู้ออกกำลังกายตอนที่ยังสาว เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งที่เต้านมน้อยลง

คุณ เกรแฮม โคลดิตช์ กล่าวว่า ข้อมูลเหล่านั้น แสดงว่า ผู้หญิงผู้วิ่งออกกำลังกายราว 30 นาทีต่อวัน เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งที่เต้านมน้อยลง 25 เปอร์เซ็นต์ ไปจนถึงวัยหมดประจำเดือน

เขากล่าวว่าการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการเดิน หรือการเต้นรำ ก็ล้วนแต่มีประโยชน์ทั้งนั้น เขากล่าวด้วยว่า การออกกำลังกาย ไม่ต้องทำถึงระดับที่เหงื่อไหลไคลย้อย แต่อยู่ที่กิจกรรมทั้งหมด เช่น การเดินออกกำลังกับกิจกรรมอื่นๆ เมื่อนับรวมกันแล้ว ทำให้เห็นชัดที่สุดว่า ช่วยลดการเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งที่เต้านม

คุณ เกรแฮม โคลดิตช์ กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์ คิดว่า การที่ฮอร์โมนในกระแสโลหิตลดลง เมื่อผู้หญิงออกกำลังกาย คือตัวที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งที่เต้านมน้อยลง ผลการศึกษาวิจัยของคุณ เกรแฮม โคลดิตช์ ตีพิมพ์อยู่ในวารสารของสถาบันแห่งชาติเกี่ยวกับโรคมะเร็ง

เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพอีกเรื่องหนึ่ง ขณะนี้ผลของการวิจัยครั้งใหม่ของทางคณะสาธารณสุขศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาดบ่งชี้ว่า ยิ่งมีอนุภาคหนาแน่นมากขึ้นเท่าไหร่ในอากาศ ก็จะทำให้เกิดอาการโลหิตจับตัวเป็นลิ่มตามขาของคนบางคนมากขึ้นเท่านั้น อาการที่ว่านี้ทางการแพทย์เรียกว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำอย่างรุนแรง

นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาด โจเอล ชวอตซ์ ผู้ศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดเนื่องจาการหายใจเอาอนุภาคที่สกปรกเป็นพิษที่เขาเรียกว่า PM10 เข้าไปนั้นกล่าวว่า PM10 หมายถึงว่าอนุภาคมีขนาดใหญ่ 10 ไมครอนส์ หรือเล็กกว่า ซึ่งเล็กมากพอที่จะลงไปในลำคอของคนเรา เขากล่าวว่า อนุภาคที่มีขนาดใหญ่กว่านั้น มักจะโดนจมูกและลำคอกรองออกไป และจะติดอยู่แถวๆ นั้น และจะไม่เข้าไปในปอด เขากล่าวต่อไปว่า ส่วนอนุภาคที่เล็กกว่านั้น จะไหลลงไปในลำคอแล้วเข้าไปอยู่ในปอดของคน เรา

นักวิจัย โจเอล ชวอตซ์ และเพื่อนร่วมทีม ตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับมาจากเครื่องตรวจอากาศรอบๆภาคเหนือของอิตาลี แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาโยงเข้ากับประวัติเกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนผู้พำนักอาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว และค้นหาว่ามีใครเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำอย่างรุนแรง คณะนักวิจัยสามารถบอกได้ว่า ใครบ้างที่พำนักอาศัยอยู่ใกล้กับที่มีอนุภาคซึ่งสกปรกเป็นพิษมากๆ นั้นได้ นักวิจัย โจเอล ชวอตซ์ และคณะพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว คนที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำอย่างรุนแรงนั้น จะอยู่ในบริเวณที่มีอนุภาคสกปรกเป็นพิษมากกว่าผู้ที่ไม่มีอาการดังกล่าว อีกทั้งการเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำอย่างรุนแรง จะสูงกว่าปกติร้อยละ 70 ด้วย ภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำอย่างรุนแรง นี้ อาจทำให้ถึงตายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้า ก้อนลิ่มเลือดเกิดหลุดไหลไปตามกระแสโลหิต ซึ่งสามารถจะทำให้เกิดอาการหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมองอุดตันหรือการหายใจล้มเหลว

นักวิจัย โจเอล ชวอตซ์ กล่าวว่า ภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำ เป็นอันตรายอย่างหนึ่ง ของการที่อากาศสกปรกเป็นพิษ และว่า ปัญหาอนุภาคในอากาศนี้ เป็นภัยต่อสุขภาพ ตามประเทศที่กำลังพัฒนา มากกว่าสหรัฐ และยุโรป เขากล่าวว่า องค์การอนามัยโลกอนุมานว่า แต่ละปีจะมีคนเสียชีวิตเพราะอนุภาคในอากาศสกปรกเป็นพิษนี้ราว แปดแสนราย และในบรรดาผู้เสียชีวิตนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา เขาคิดว่าหลายประเทศจะต้องทำให้อากาศหายสกปรก ไม่ว่าจะมีทุนรอนที่จะทำหรือไม่ เพราะประชาชนในประเทศเหล่านั้น เสียชีวิต เพราะเขม่าและควันมากเกินไปแล้ว รายงานการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องอนุภาคในอากาศ ทำให้โลหิตจับตัวเป็นลิ่มตามขาคนของนักวิจัยโจเอล ชวอตซ์ ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร The Archives Of Internal Medicine

XS
SM
MD
LG