ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สถานการณ์ด้านการเมืองในพม่า


คณะทหารที่ปกครองพม่า ซึ่งดำเนินงานสองอย่าง กำลังโดนประชาคมระหว่างประเทศติเตียน ฐานเป็นการดำเนินงานที่มีจุดมุ่งจะทำให้คณะทหารคุมอำนาจอย่างแน่นแฟ้นต่อไปอีก

ในสัปดาห์นี้ รัฐบาลทหาร ณ กรุงย่างกุ้ง ขยายการควบคุมนางอองซานซุจี ผู้นำฝ่ายค้านออกไปอีกหนึ่งปี และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลทหารพม่าจัดให้มีการลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่รอบที่สอง ในยามที่เกิดพายุไซโคลนนาร์กีซ ซึ่งโหมกระหน่ำ และก่อความหายนะ ทำให้คนเสียชีวิต หรือหายสาบสูญไป หนึ่งแสนสามหมื่นกว่าราย

เลขาธิการสหประชาชาติ บาน กี-มูน ผู้เดินทางไปกรุงย่างกุ้งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กล่าวว่า กรณีนางอองซานซูจีเป็นเรื่องที่ประชาคมระหว่างประเทศ วิตกห่วงใย มากที่สุดกรณีหนึ่ง เขาให้คำมั่นว่า สหประชาชาติ จะกดดันพม่าต่อไป เพื่อให้ปล่อยตัวนางอองซานซูจี

นายบาน กี-มูน กล่าวว่า ยิ่งมีการยกเลิกการจำกัดกีดกัน นางอองซานซูจีเร็วเท่าไหร่ พม่าก็จะรุดหน้าไปสู่การประนีประนอมรอมชอมในชาติ การฟื้นฟูประชาธิปไตย และการเคารพสิทธิมนุษยชนโดยสมบูรณ์เร็วขึ้นเท่านั้น

แต่เลขาธิการสหประชาชาติ บาน กี-มูน กล่าวไว้ชัดว่า การเยือนพม่า 4 วันของเขามุ่งไปที่เรื่องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนนาร์กีซ และมิได้ผลักดันในเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยแต่อย่างใด แต่นาย จาเรด เดนเซอร์ ทนายความในกรุงวอชิงตัน ผู้เป็นตัวแทนของ นางอองซานซูจี และกำลังพยายามระดมนานาประเทศให้สนับสนุนเรื่องการปล่อยตัว นางอองซานซูจี วิพากษ์ตำหนิ นายบาน กี-มูน ว่า พลาดโอกาสที่จะยกประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนขึ้นมาเจรจากับบรรดาคณะทหารผู้ปกครองพม่า

ทนายความ จาเรด เดนเซอร์ คิดว่า การที่คนอย่างเลขาธิการสหประชาชาติ นายบาน กี-มูน ไปพม่าซึ่งเป็นครั้งแรกที่คนระดับเลขาธิการสหประชาชาติ ไปเยือนประเทศนั้น ในรอบ 44 ปี แล้วไม่ยกประเด็นเรื่อง นางอองซานซูจี และ การลงประชามติขึ้นมาพูด ในการพบหารือ กับ พลเอก ตานฉ่วย นั้น เป็นเรื่องที่ผิดพลาด

ในระยะไม่กี่สัปดาห์มานี้ คณะทหารที่ปกครองพม่า ดำเนินงานขั้นต่างๆ เพื่อทำให้ควบคุมอำนาจไว้ได้อย่างแน่นแฟ้น หลังจากพายุไซโคลน นาร์กีซโหมกระหน่ำแล้วไม่นานนัก รัฐบาลทหาร จัดให้มีการลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูยฉบับใหม่ โดยให้ลงประชามติ เป็น สองขั้น รัฐบาลทหารอ้างว่า ชาวพม่าไปลงประชามติ ร้อยละ 98 และร้อยละ 92 เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ

ทนายความ จาเรด เดนเซอร์ กล่าวว่าการอ้างแบบนั้นเห็นได้ชัดว่า เป็นความเท็จ และคณะทหารกำหนดตัวเลขเอาเอง ทั้งนี้เพราะชาวพม่าร้อยละ 60 ไม่ได้รับความช่วยเหลือเลย แล้วชาวพม่าร้อยละ 90 ในพม่า ซึ่งเป็นชาวชนบทเสียเป็นส่วนใหญ่นั้น ซึ่งกำลังทนทุกข์ทรมานเหลือเกิน จะมาลงประชามติได้อย่างไร

ส่วนคุณเดบบี้ สต็อตฮาร์ด นักกิจกรรมแห่งข่ายงาน Alternate ASEAN กล่าวว่า ชาวพม่า ผู้กำลังพยายามฟื้นตัวจากความหายนะอันเกิดจากพายุไซโคลนนาร์กีซนั้น ถูกสั่งให้ลงประชามติเห็นด้วย ถ้าพวกเขาต้องการได้รับความช่วยเหลือ ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า การลงประชามติทั้งหมดเต็มไปด้วยการฉ้อฉล การบังคับ และการข่มขู่ให้กลัว ผู้สังเกตการณ์บางส่วนรวมทั้ง ทนายความ จาเรด เดนเซอร์รู้สึกพิศวงว่า ประเทศเล็กๆ อย่างพม่า จึงสามารถบอกปัดข้อเสนอของนานาชาติ ที่จะให้ความชวยเหลือนั้นได้อย่างไรกัน

ทนายความ จาเรด เดนเซอร์ คิดว่าเป็นเพราะพม่าพัฒนา และสร้างพันธมิตรที่ทรงอำนาจ อย่างเช่น จีน อินเดีย ประเทศไทย และภาคีอื่นๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ตัวอย่างเช่น แอฟริกาใต้ เวียดนาม และภาคีอื่นๆ ผู้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนที่จะต้องรักษา ในการปล่อยให้ระบอบการปกครองในพม่าเป็นอยู่อย่างนี้ต่อไป เขากล่าวด้วยว่า จีนไม่ต้องการเห็นพม่าเป็นประชาธิปไตย เพราะนั่นหมายถึงว่า จีนจะต้องแข่งกับฝ่ายตะวันตกและประเทศอื่นๆ เพื่อช่วงชิงกาซธรรมชาติชนิดเหลว น้ำมัน ไม้ และอัญมณี ซึ่งมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในพม่านั่นเอง

XS
SM
MD
LG