ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบดาวฤกษ์ระเบิด ที่เรียกกันว่า Supenova


เมื่อไม่กี่วันมานี้ นักวิทยาศาสตร์ประกาศว่า ค้นพบดาวฤกษ์ระเบิด ที่เรียกกันว่า Supernova ที่อายุน้อยที่สุดในแกแล็กซี่ทางช้างเผือกของเรา นักดาราศาสตร์กล่าวว่า เศษชิ้นส่วนของการระเบิดของดาวฤกษ์ล่าสุดนี้ อาจให้ร่องรอยที่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจความลี้ลับที่มีมานานแล้วเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า ทำไมจึงมี Supernova เกิดขึ้นในแกแล็กซี่ทางช้างเผือกของเราน้อยมากเมื่อเทียบกับแกแล็กซี่อื่นๆ และเกี่ยวกับก่อตัวของสารเคมีต่างๆ ที่เกิดจากการระเบิดนั้น

จากการศึกษาด้วยกล้องดูดาววิทยุขนาดใหญ่ที่หอดูดาวจันทราขององค์การอวกาศสหรัฐในรัฐนิวเม็กซิโก นักดาราศาสตร์พบเศษสิ่งที่เหลืออยู่ของ SuperNova หรือการระเบิดของดาวฤกษ์ดวงหนึ่งในแกแล็กซี่ทางช้างเผือก ซึ่งตอนที่เกิดการระเบิดเมื่อราว 140 ปีมาแล้วนั้นต้องทำให้เกิดแสงสว่างจัดจ้าส่องวาบออกไปทั่วแกแล็กซี่ทางช้างเผือกของเราเลยทีเดียว

ในการแถลงข่าวที่องค์การอวกาศสหรัฐ หรือ NASA เมื่อเร็วๆนี้ นักดาราศาสตร์กล่าวว่าสามารถประมาณอายุของ SuperNova นั้นได้โดยติดตามร่องรอยอัตราการขยายตัวแผ่ออกไปของเศษสิ่งที่เหลืออยู่จากการระเบิดดังกล่าวในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งบ่งชี้ว่า SuperNova หรือการระเบิดของดาวฤกษ์นั้น เกิดขึ้นไม่นาน หรือมีอายุน้อยกว่าที่คิดกันแต่แรก

หัวหน้าคณะนักดาราศาสตร์กล่าวว่าเทคโนโลจีวิทยุและรังสีเอ็กซ หรือ X-Ray ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถติดตามดาวฤกษ์ที่กำลังจะตายไปโดยส่องทะลุกลุ่มกาซและละอองหนาแน่นที่บดบังดาวฤกษ์นั้นอยู่ได้

Supernova หรือการระเบิดของดาวฤกษ์ ครั้งก่อน รองจากครั้งนี้นั้น นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 330 ปีมาแล้ว และนักดาราศาสตร์ตรวจพบ Supernova นั้นเมื่อกว่า 50 ปีก่อน ตั้งแต่นั้นมา นักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มค้นหา Supernova อื่นๆและเศษสิ่งที่เหลืออยู่ ที่ยังอาจตรวจไม่พบ เมื่อพิจารณาเทียบกับการเกิด Supernova ของแกแล็กซี่หรือดาราจักรอื่นๆ ในรอบหนึ่งศตวรรษแล้ว นักดาราศาสตร์คิดว่า แกแล็กซี่ทางช้างเผือกของเรามี Supernova น้อยมาก

Stephen Reynolds แห่งมหาวิทยาลัย North Carolina State หัวหน้างานศึกษาดังกล่าวบอกว่า แกแล็กซี่รูปกังหันอย่างแกแล็กซี่ทางช้างเผือกดูเหมือนจะมี Supernova สองหรือสามครั้งในรอบศตวรรษ แต่ดูเหมือนว่าในรอบหนึ่งพันปีที่ผ่านมาแกแล็กซี่ทางช้างเผือกของเราจะมี Supernova เพียง 5 – 6 ครั้งเท่านั้น ขณะที่ควรมีราว 20-30 ครั้ง

การตรวจพบเศษสี่งที่หลงเหลืออยู่ของดาวฤกษ์ระเบิดล่าสุดนี้ ยังไม่ได้ให้คำตอบข้อสงสัยดังกล่าว แต่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าเศษสิ่งที่หลงเหลืออยู่ที่พบนั้น เป็นเหมือนเหมืองทองสำหรับการศึกษาต่อไปเพราะนับว่ายังใหม่และมีพลังงานอยู่ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการค้นพบนี้มีความสำคัญสำหรับการทำความเข้าใจวงจรชีวิตของดาวฤกษ์ทั้งหลายในแกแล็กซี่ทางช้างเผือก

Bob Kirshner แห่งมหาวิทยาลัย Harvard อธิบายว่า Supernova หรือการระเบิดของดาวฤกษ์นั้น ทำให้เกิดธาตุที่เป็นสารเคมีต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ธาตุเบากลายเป็นธาตุหนัก นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ธาตุแคลเซี่ยม ในกระดูกและธาตุเหล็กในเลือดของคนเราอาจมาจาก Supernova ที่ระเบิดก่อนที่ดวงอาทิตย์ก่อตัว จึงมีเหตุผลสมควรที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการจะทราบว่าธาตุเหล่านั้นก่อตัวอย่างไรเมื่อดาวฤกษ์ระเบิด

XS
SM
MD
LG