มีผู้เชี่ยวชาญมากมายออกมาอธิบายสาเหตุที่ทำให้ราคาอาหารทั่วโลกแพงขึ้นใน ปัจจุบันซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชากรในประเทศยากจน บ้างก็ว่าเป็นเพราะปริมาณอาหารขาดแคลน ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นและการนำอาหารมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ล่าสุดนักวิเคราะห์บางคนระบุว่า การที่ชนชั้นกลางในประเทศใหญ่ๆบางประเทศมีจำนวนมากขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
เวลานี้ราคาอาหารต่างๆแพงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะราคาข้าวซึ่งในบางประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และยิ่งแพงขึ้นอีกเมื่อประเทศผู้ผลิตข้าวหลักๆอย่างจีน เวียดนามและอินเดีย ประกาศห้ามส่งออกข้าวเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีเพียงพอสำหรับประชาชนในประเทศ และนอกจากข้าวแล้ว ราคาอาหารอื่นๆ เช่น ข้าวสาลี ขนมปัง ข้าวโพด ในหลายประเทศก็แพงขึ้นมาก
คุณ Joachim von Braun (โจอาคีม วาน บราวน์) ผอ.สถาบันวิจัยนโยบายด้านอาหารระหว่างประเทศในกรุงวอชิงตันระบุว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกร โดยเฉพาะราคาเชื้อเพลิงและค่าขนส่งสินค้าที่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรต้องขึ้นราคาผลิตผลทางการเกษตร และแม้จะพยายามผลักดันให้มีการเพิ่มผลผลิต ราคาอาหารในตลาดโลกก็คงจะไม่ลดลงถ้าราคาน้ำมันโลกยังคงอยู่ที่ระดับ 120 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรลในปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน การที่ผลผลิตข้าวโพดในอเมริการาว 1 ใน 4 ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเชิ้อเพลิงเอทานอล เกษตรกรที่ปลูกถั่วเหลืองและพืชอื่นๆ จึงหันไปปลูกข้าวโพดแทน ราคาถั่วเหลืองและพืชอื่นๆ จึงสูงขึ้น
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่า มาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้นในประเทศที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง คุณ Carlos Serray แห่งสถาบันวิจัยด้านปศุสัตว์ระหว่างประเทศในกรุงไนโรบี ให้ความเห็นว่าประชากรหลายร้อยล้านคนในประเทศใหญ่ๆ ทั่วโลกที่มีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีเงินจับจ่ายซื้อสินค้ามากขึ้น จึงบริโภคอาหารต่างๆ ทั้งผัก เนื้อสัตว์ มากกว่าเดิม รวมทั้งใช้น้ำมันมากขึ้นด้วย
ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังบอกด้วยว่า บางครั้งความเป็นอยู่ืที่ดีขึ้นของชนชั้นกลางเหล่านั้น กลับส่งผลกระทบต่อคนยากจนที่สุดในบางส่วนของโลก และหากแนวโน้มราคาอาหารยังเป็นเช่นนี้ต่อไป คาดว่าในอนาคตจะมีประชากรโลกราว 100 ล้านคนที่ฐานะความเป็นอยู่แย่ลงจนต้องจัดอยู่ในกลุ่มคนยากจน
คุณโจอาคีม วาน บราวน์แห่งสถาบันวิจัยนโยบายด้านอาหารระหว่างประเทศ ระบุว่า ราคาอาหารแพงทำให้คนยากจนต้องจำกัดการบริโภคของตัวเองลง และอาจขาดสารอาหารที่เหมาะสม จนเกิดผลร้ายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะเด็กที่อายุไม่ถึง 3 ขวบ หากร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอเป็นเวลา 2 เดือน เด็กคนนั้นจะมีปัญหาด้านสุขภาพไปตลอดชีวิตเลยทีเดียว