ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทำความรู้จักกับ “ตุ่นปากเป็ด”


เมื่อพูดถึงตุ่นปากเป็ด แม้จะไม่เคยเห็นตัว แต่พอได้ยินชื่อ ก็คงจะพอนึกภาพกันออกว่าหน้าตาเป็นอย่างไร

ด้วยความที่เป็นสัตว์แปลก ตุ่นปากเป็ดจึงได้รับเลือกเป็นแบบ Mascot หรือสัญญลักษ์ของบริษัทธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ และงานต่างๆ มากมาย

เมื่อเร็วๆนี้ นักวิทยาศาสตร์นานาชาติในสหรัฐ ถอดรหัสโครงสร้างเชื้อพันธ์ของตุ่นปากเป็ดออกมาได้แล้ว และพบว่ามีความหลากหลายสมกับความแปลกนั้นเลยที่เดียว

ตุ่นปากเป็ดนั้น จัดอยู่ในสัตว์จำพวกเลี้ยงลูกด้วยน้ำนม รูปร่างหน้าตาแปลกเหมือนกับนำชิ้นส่วนของสัตว์หลายชนิดมาประกอบกัน และอย่างที่ชื่อบ่งบอก ตัวมีลักษณะคล้ายตุ่น ขนหนา มีปากเหมือนเป็ด เท้าเหมือนแมวน้ำ หางยาวเป็นพวงเหมือนบีเวอร์ ตัวเมียวางไข่ และมีน้ำนมเลี้ยงลูกอ่อน ซึ่งถึงแม้จะไม่มีหัวนม แต่ก็ให้น้ำนมแก่ลูกอ่อนได้จากทางผิวหนังที่ท้อง ตัวผู้มีเดือยที่เท้าหลังซึ่งสามารถพ่นพิษได้เหมือนงู ตุ่นปากเป็ดกินตัวหนอน ตัวดักแด้ และกุ้งเป็นอาหาร เมื่อโตเต็มที่ ตัวผู้จะยาวราว 20 นิ้ว หนักราว 2 กิโลกรัม ตัวเมียจะเล็กกว่า ตุ่นปากเป็ดอาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่งตะวันออกของออสเตรเลีย เกาะทัสมาเนีย และปาปัวนิวกินี

นักธรรมชาติวิทยาอังกฤษพบสัตว์แปลกนี้ในออสเตรเลียมานานกว่า 200 ปีแล้ว และตั้งชื่อให้ว่า Platypus มาตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์นานาชาติที่มหาวิทยาลัย Louisiana State และที่มหาวิทยาลัย Washington ที่เมือง St. Louis ในรัฐ Missouri ทำงานถอดระหัสโครงสร้างเชื้อพันธ์ของตุ่นปากเป็ดและงานวิจัยขั้นต้นเกี่ยวกับโครงสร้างนั้นเสร็จแล้ว นับเป็นผังโครงสร้างเชื้อพันธ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดออกไข่ผังแรก และเป็นการยืนยันว่า DNA หรือเชื้อพันธ์ของตุ่นปากเป็ดนั้น ก็มีความหลากหลายแบบเดียวกับลักษณะของตัวตุ่นนั้นเอง กล่าวได้ว่าตุ่นปากเป็ด เป็นส่วนผสมของทั้งสัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม

นักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Louisiana State กล่าวว่า โครงสร้างเชื้อพันธ์ของตุ่นปากเป็ด มีลักษณะคล้ายของสัตว์ปีกผสมกับของสัตว์เลื้อยคลาน มากกว่าของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม คือมีทั้งเชื้อพันธ์สำหรับการวางไข่แบบที่สืบทอดมาจากสัตว์เลื้อยคลาน และมีเชื้อพันธ์ของการมีพิษคล้ายพิษงู แต่ก็มีเชื้อพันธ์สำหรับการสร้างน้ำนมสำหรับลูกอ่อนด้วย

นักวิทยาศาสตร์พบด้วยว่า ตุ่นปากเป็ดมีโครโมโซมกำหนดเพศถึง 10 ตัว ซึ่งมากกว่าของมนุษย์ถึงห้าเท่า

นักวิทยาศาสตร์ บอกว่า การถอดรหัสโครงสร้างเชื้อพันธ์ของของตุ่นปากเป็ด ทำให้ได้เรียนรู้มากมายเกี่ยวกับ ระบบกำหนดเชื้อพันธ์และระบบภูมิต้านทานของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ซึ่งนับว่าเป็นก้าวสำคัญในการศึกษาด้านเชื้อพันธ์หรือพันธุกรรม ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ รวมทั้งสาเหตุและวิธีป้องกันโรคเหล่านั้น ตลอดจนการพยายามอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ต่างๆ ต่อไป

XS
SM
MD
LG