ในอินเดีย กำลังมี่การก่อสร้าง ถนนสายใหม่ๆ ท่าอากาศยานใหม่ๆ และโรงไฟฟ้าใหม่ๆ เพื่อสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เศรษฐกิจขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่โครงสร้างสาธารณูปโภคเหล่านั้นก็ยังไม่เพียงพออย่างน่าวิตก
ปลายเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการเปิดท่าอากาศยานแห่งใหม่ในเมืองบังกาลอร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางเทคโนโลจีสารสนเทศที่มีชื่อเสียงของอินเดีย หลังจากรอกันมานาน แต่ถนนหนทางจากที่ต่างๆ ที่ตัดไปยังท่าอากาศยานแห่งใหม่ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางเหนือ 36 กิโลเมตร ไม่กว้างพอที่จะผ่อนเพลาความติดขัดของการจราจรที่เรื้อรังอยู่ได้ ผู้เดินทางพากันกลัวว่า การเดินทางไปสนามบินอาจใช้เวลาถึงสามชั่วโมง ซึ่งจะนานกว่าการเดินทางโดยเครื่องบินระยะสั้นเสียอีก
นอกจากนี้ อินเดียยังมีปัญหาโครงสร้างสาธารณูปโภคไม่เพียงพออีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกระแสไฟฟ้า ทางหลวง ท่าเรือ หรือท่าอากาศยานระดับโลก
Bidisha Ganguly ที่ปรึกษาสหพันธ์อุตสาหกรรมของอินเดีย กล่าวว่า ปัญหาหนักขึ้น เพราะไม่มีสร้างโครงสร้างสาธารณูปโภคเตรียมไว้ล่วงหน้าเพื่อรับสถานการณ์ มาสร้างเอาเมื่อเกิดปัญหาที่อยู่ในสภาพคอขวดแล้ว เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว การจำหน่ายรถสูงขึ้น ทำให้การจราจรที่อยู่แล้วติดขัดขึ้นอีก การบรรจุของและนำของออกที่ท่าเรือใช้เวลานานถึง 85 ชั่วโมง นานกว่าในสิงคโปร์หรือในฮ่องกง 10 เท่า การส่งพัสดุในอินเดียใช้เวลาหลายวัน โกดังตามท่าเรือและท่าอากาศยานไม่มี่ที่พอเก็บของ
ปัญหากระแสไฟฟ้าไม่พอ ดูจะเป็นปัญหาร้ายแรงที่สุด อุตสาหกรรมต่างๆ และสำนักงานส่วนใหญ่ต้องมีเครื่องทำไฟขนาดใหญ่ไว้ช่วย เพราะไฟฟ้ามักดับคราวละหลายๆ ชั่วโมง
โครงสร้างสาธารณูปโภคไม่เพียงพอกับความต้องการดังกล่าวกำลังทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียชะลอลง และกำลังทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศไม่อยากลงทุน
ราชีฟ กุมาร ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจระหว่างประเทศของอินเดีย เห็นว่า ความไม่พอเพียงด้านโครงสร้างสาธารณูปโภค กำลังทำให้อินเดียสูญเสียการเพิ่มของผลผลิตมวลรวมแห่งชาติราว 2 %
รัฐบาลอินเดียยอมรับว่า อินเดียกำลังดิ้นรนในการพยายามแก้ปัญหาโครงสร้างสาธารณูปโภคและประมาณว่าจะต้องลงทุนราว 500,000 ล้านดอลล่าร์ในเวลา 5 ปี รัฐบาลอินเดียขอให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยรับภาระ เอกชนบางส่วนเข้ามาลงทุนในด้านการวางท่อส่งน้ำมันและกาซธรรมชาติแล้ว ถนนกว้างระหว่างเมืองสำคัญ 4 เมืองกำลังจะสร้างเสร็จในปีนี้ กำลังมีการก่อสร้างท่าอากาศยานทันสมัยในหลายเมือง ซึ่งเอกชนเข้ามาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แล้วเก็บค่าธรรมเนียมการใข้ ต่อไปจึงจะส่งโครงการกลับให้แก่รัฐบาล