ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การประชุมฉุกเฉิน เพื่อหาทางแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก


เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ที่กรุงเบิร์น เมืองหลวงของสวิทเซอร์แลนด์ นายบันกีมูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เป็นประธานการประชุมฉุกเฉินของบรรดาหัวหน้าหน่วยงานต่างๆของสหประชาชาติเกือบ 30 องค์การ เพื่อหาทางแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลกที่กำลังรุนแรงขึ้น

ผู้อำนวยการใหญ่ของธนาคารโลก และ กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เข้าร่วมประชุมฉุกเฉิน 2 วันนี้ด้วย

ขณะเดียวกัน ในการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชีย-แปซิฟิคของสหประชาชาติ หรือ UNESCAP ที่กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหประชาชาติ ก็เตือนว่า ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค อาจยิ่งซ้ำร้ายลงไป ขณะที่ราคาพลังงานสูงขึ้น

คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมภาคพื้นเอเชียแปซิฟิคของสหประชาชาติ [UNESCAP] เปิดการประชุมประจำปีในวันจันทร์ที่กรุงเทพมหานคร ผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมจะมุ่งพิจารณาเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีพลังงานสำรองเผื่อเลือกที่ราคาย่อมเยาสำหรับการพัฒนาในภาคพื้นส่วนนี้
ในการปราศรัยเปิดการประชุม เลขาธิการของ UNESCAP กล่าวว่า ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังซ้ำร้ายลงไป เนื่องจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น และสภาพดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุให้เกิดวิกฤติการณ์ในอีกไม่ช้า หากกลุ่มประชาชนรายได้น้อยเกิดเสียศูนย์

Noeleen Heyser เลขาธิการ UNESCAP กล่าวว่า ความไม่เท่าเทียมกันในรายได้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่ความไม่สมดุลอย่างร้ายแรงในทางสังคมและสภาพแวดล้อม เธอกล่าวว่า ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิคมีพื้นที่ที่มีประชาชนยากจนมากอาศัยอยู่เพิ่มขึ้น และบริเวณที่อยู่อาศัยที่สภาพแวดล้อมไม่ดีเพิ่มขึ้น

คนยากจนมากๆ อาจใช้พลังงานน้อย แต่ความจริงนั้น เมื่อเทียบสัดส่วนดูแล้ว คนยากจนจ่ายค่าบริการด้านพลังงานมากกว่าคนร่ำรวย

ระดับความไม่เสมอภาคอย่่างมากดังกล่าวทำให้แรงยึดเกี่ยวเกาะทางสังคมในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิคเสื่อมลง ภาคพื้้นเอเชีย-แปซิฟิคมีคนยากจนราว 640 ล้านคน ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลายคนเกรงว่า จำนวนคนยากจนจะเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากราคาอาหารที่สูงขึ้นและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงพุ่งสูงขึ้น

นายกรัฐมนตรีของไทย นายสมัคร สุนทรเวช ขอให้บรรดาผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมผลักดันให้มีการปฏิรูปที่ทำให้มั่นใจกันได้ว่าจะมีแหล่งพลังงานที่ยั่งยืนในทางสภาพแวดล้อม

นายกรัฐมนตรีสมัครกล่าวว่า ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิคมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพิจารณาเรื่องการปฏิรูปการจัดการด้านพลังงาน ส่งเสริมความร่วมมือในภาคพลังงาน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมพลังงานที่สะอาด และการพัฒนาพลังงานสำรองเผื่อเลือกที่หมุนเวียนมาใช้ได้อยู่เสมอ

รายงานฉบับใหม่ของ UNESCAP ระบุว่า ความมั่นคงด้านพลังงานเป็นความท้าทายสำคัญต่อการพัฒนาในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค ตามรายงานนั้น การบริโภคพลังงานในภาคพื้นส่วนนี้เพิ่มขึ้นเท่าตัวของเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน เนื่องจากการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจและการที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้น รายงานนี้ระบุว่า ในเวลาอีก 22 ปีต่อไป ภาคพื้นส่วนนี้จะต้องใช้งบประมาณถึง 9 ล้านล้านดอลล่าร์ในการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคใหม่เพื่อสนองความต้องการด้านพลังงาน

เลขาธิการ UNESCAP กล่าวว่า ภาคเอกชนควรเข้ามามีบทบาทสำคัญ รายงานของ UNESCAP ขอให้รัฐบาลประเทศทั้งหลายทำงานร่วมกับธุรกิจต่างๆ ในการหาแหล่งพลังงานสำรองเผื่อเลือกหมุนเวียนแบบยั่งยืนสำหรับภาคพื้นส่วนนี้


XS
SM
MD
LG