งานวิจัยที่เพิ่งเผยแพร่ออกมา ระบุว่า ช่วงชีวิตที่คาดหมายได้ หรือ Life Expectancy ของคนอเมริกันเวลานี้ ไม่เพิ่มขึ้น หรืออาจจะลดลงด้วยซ้ำไป
ในช่วงเวลา 40 ปี ตั้งแต่ค.ศ. 1960 จนถึง 2000 ช่วงชีวิตที่คาดหมายได้ของคนอเมริกันเพิ่มขึ้น 7 ปีสำหรับผู้ชาย คือจาก 66.9 ปี เป็น 74.1ปี และ จาก 73.5 เป็น 79.6 หรือ 6 ปีสำหรับผู้หญิง ตัวเลขนี้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลของเขตปกครองทั่วประเทศ
นักวิจัยกล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้ เพราะมีการปรับเปลี่ยนลักษณะการดำรงชีวิตที่ลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ หรือเกิดหัวใจวายได้ กล่าวคือ การลดหรือเลิกสูบบุหรี่ การลดความเครียดและคอเลสเตอรัล ประกอบกับความก้าวหน้าในเรื่องยา และการบำบัดรักษาโรคหัวใจ
แต่ในช่วงตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา เริ่มมีความแตกต่างให้เห็นระหว่างคนที่อยู่ในพื้นที่ที่แตกต่างกัน รองศาสตราจารย์ Majid Ezzati แห่งคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัย Harvard กล่าวว่า แนวโน้มที่แสดงให้เห็นตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา คือช่วงชีวิตที่คาดหมายได้ของคนอเมริกันโดยเฉลี่ยที่มีฐานะยากจนเลวลง หรือไม่ดีขึ้นเลย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในภาคใต้ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นคนผิวสีใดก็ตาม
นักสาธารณสุขศาสตร์ผู้นี้ให้ความเห็นว่า สาเหตุมาจากการดำเนินนโยบาย ซึ่งเกี่ยวกับการให้บริการทางสาธารณสุขแก่ประชาชนในส่วนต่างๆของประเทศ หรือการไม่ให้บริการดังกล่าวแก่ผู้คนที่อยู่ในบริเวณที่มีปัญหามากที่สุด
อาจารย์ Majid กล่าวว่า โรคภัยไข้เจ็บที่คนเหล่านี้เป็น เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ การมีความดันโลหิตสูง และการอ้วนเกินขนาด และแม้อเมริกาจะมีความรู้มากขึ้นในการบำบัดรักษาโรคเหล่านี้ แต่ความช่วยเหลือไปไม่ถึงมือคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากกว่าใครเพื่อน
และในตอนต้นคริสต์ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ช่วงชีวิตที่คาดหมายได้ของผู้หญิงอเมริกัน ราวๆ 19% ไม่เพิ่มขึ้นหรืออาจจะลดลง ในขณะที่ 4% ของผู้ชายลดลง อาจารย์ Majid Ezzati บอกว่า สำหรับประเทศอุตสาหกรรมแล้ว ไม่ควรมีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น
นักสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Harvard บอกว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วและมีรายได้สูง ไม่ควรมีปัญหาเรื่องสุขภาพไม่ดี และช่วงชีวิตที่ลดลง ปัญหาอย่างนี้เคยเห็นเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย และหลังจากที่ข่ายงานทางสังคมในยุโรปตะวันออกขาดตอน หรือเมื่อประเทศประสบโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรง อย่างประเทศต่างๆในแอฟริกาที่มีโรคเอดส์แพร่กระจายไปทั่ว
อาจารย์ Majid หวังว่า การเผยแพร่ผลวิจัยครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้คนมีความตระหนักในเรื่องสุขภาพมากขึ้น รวมทั้งผลักดันให้รัฐบาลหันมาให้ความสนใจดูแลผู้ที่ด้อยโอกาสด้วย