ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไม่ต้องปวดหัวกับปัญหายางรั่วอีกต่อไป นักวิจัยค้นพบยางใหม่ ซ่อมตัวเองได้


อีกไม่นานก็จะไม่ต้องปวดหัวกับปัญหายางฉีกขาด หรือยางรถรั่ว เพราะนักวิจัยเพิ่งจะพัฒนายางชนิดใหม่ ที่สามารถปะซ่อมตัวเองขึ้นมาได้สำเร็จ

นักวิจัยฝรั่งเศสประสบความสำเร็จกับการคิดค้นพัฒนายางที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้เมื่อฉีดขาด ประดิษฐกรรมใหม่นี้ผลิตมาจากวัสดุหลายอย่าง ที่มีทั้งน้ำมันพืชและสารเคมีที่ใช้ในวงการอุตสาหกรรมทั่วไป แต่นักวิจัยบอกว่าวัสดุที่ใช้ทั้งหมดปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่ายๆ

ข้อดีที่สุดของยางชนิดใหม่นี้ก็คือ ยางแบบนี้สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ และนำกลับมาใช้ซ้ำๆ ได้โดยยางจะยังคงรูปเดิมและไม่ยาน และเมื่อยางขาดก็สามารถนำมาเชื่อมติดกันได้ง่ายๆ ด้วยการนำส่วนที่ขาดมากดติดกันในอุณหภูมิห้องปกติ หรือที่ประมาณ 20 องศาเซลเซียส ในขณะที่ยางอย่างอื่นต้องใช้ความร้อนมาช่วยในการปะยางให้ติดกัน วัสดุยางแบบเดิมประกอบด้วยโมเลกุลขนาดใหญ่ที่ยึดโยงกันอย่างแข็งแรง แต่ยางแบบใหม่นี้ประกอบด้วยโมเลกุลขนาดเล็กกว่า ที่ยึดโยงกันด้วยธาตุไฮโดรเจนเมื่อมีการเชื่อมโยงแบบนี้ จึงทำให้ดูเหมือนเป็นโมเลกุลเดียวที่รูปร่างยาว หรือที่เรียกกันว่าเครือข่ายซุปเปอร์โมเลกุล เมื่อยางมีรอยแตกหรือขาดออกจากกัน โมเลกุลก็จะพยายามไปเชื่อมติดกันกับโมเลกุลใกล้ๆ ดังนั้นเมื่อเรากดยางโมเลกุลที่ขาดเข้าด้วยกัน โมเลกุลก็เลยจะซ่อมแซมตัวเองได้ด้วยการเชื่อมติดกัน ยางก็จะติดกันเองเหมือนใหม่

แต่กระบวนการนี้ก็มีข้อจำกัดเรื่องเวลาเหมือนกัน เพราะถ้าไม่รีบนำส่วนที่ขาดมาแปะติดกันให้ทันเวลา ก็จะไม่สามารถเชื่อมติดกันได้อีกต่อไป เพราะโมเลกุลแต่ละข้างก็จะเชื่อมติดกับโมเลกุลใกล้ๆ ตัวเอง

นักประดิษฐ์ยางชนิดใหม่นี้จึงบอกว่า ควรแปะผิวหน้าของยางเข้าด้วยกันให้ได้ภายในหนึ่งสัปดาห์ หลังจากที่ยางฉีกขาดหรือรั่ว

ยางชนิดใหม่นี้เป็นผลงานของนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันฟิสิกส์ และเคมีขั้นสูงในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจะเป็นผลทางไปสู่การผลิตสินค้าใหม่ๆ ต่อไป เช่นเสื้อผ้าที่ซ่อมแซมตัวเองได้ ล้อยางหรือลูกโป่งที่ปะตัวเองได้ หรือของเล่นเด็กที่สามารถเชื่อมติดกันได้เอง

บริษัทเคมีอเคม่ารักที่จะนำแนวคิดนี้ไปผลิตเป็นสินค้าต่อไป และภายในหนึ่งถึงสองปีนี้ เราคงจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ยางทรหดแบบนี้ เปิดตัวออกสู่ท้องตลาด


XS
SM
MD
LG