รัฐบาลฝรั่งเศสเริ่มโครงการใหม่ เพื่อฝึกอบรมและให้การศึกษาบรรดานักสอนศาสนาอิสลามในประเทศ เพื่อให้รู้จักและเข้าใจในค่านิยมและวัฒนธรรมของสังคมฝรั่งเศส
หลักสูตรดังกล่าวมีขึ้นโดยใช้สถานที่ของสถาบันแคทอลิกในกรุงปารีส ซึ่งเป็นสถาบันที่ให้การศึกษาแก่นักบวชและนักวิชาการของศาสนาคริสต์ แต่โครงการให้การศึกษาแก่นักสอนศาสนาชาวมุสลิม ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ว่านี้ จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลฝรั่งเศสกับสุเหร่าในกรุงปารีสโดยใช้เวลา 1 ปีและมีผู้เข้าอบรมรุ่นแรก 25 คน
นายเจอราล ตาเก โฆษกกระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศสบอกด้วยว่า โครงการอบรมนี้มุ่งเน้นสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นฐานความเป็นมาของสังคมฝรั่งเศส รวมทั้งระบบกฎหมายและค่านิยมทางสังคม แต่จะไม่สอนแนวคิดด้านศาสนาครับ
โฆษกกระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศสบอกด้วยว่า ความจริงแล้วการฝึกอบรมทางด้านศาสนานั้นเป็นหน้าที่ของสถาบันศาสนาอิสลาม แต่รัฐบาลฝรั่งเศสก้เชื่อว่าการอบรมหลักสูตรนี้ จะช่วยให้ผู้นำศาสนามุสลิมเข้าใจสังคมของฝรั่งเศสมากขึ้น
ขณะนี้ในบรรดาศาสนาต่างๆ ของฝรั่งเศสนั้นมีผู้นับถือศาสนาอิสลามมากเป็นอันดับสองของประ เทศ และฝรั่งเศสก็มีชุมชนชาวมุสลิมที่ใหญ่มากที่สุดในยุโรปด้วย
นักศึกษารุ่นแรกที่เข้าอบรมนี้ ส่วนใหญ่แล้วเกิดในต่างประเทศ และมาจากประเทศทางเหนือและใต้ของทวีปอาฟริกา และผู้อำนวยการโครงการแสดงความเชื่อว่า ผู้เข้าอบรมจะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับศาสนาในฝรั่งเศสได้ดีขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญในฝรั่งเศสให้ความเห็นว่า การอบรมดังกล่าวนี้จะช่วยปิดช่องว่างที่สำคัญ เพราะใน ขณะที่ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในฝรั่งเศสถือกำเนิดในประเทศนั้น ผู้สอนศาสนาราว 80% เกิดในต่างประ เทศ และมีหลายคนที่ไม่รู้ภาษาฝรั่งเศส และไม่เข้าใจระบบกฎหมายรวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศเสียด้วยซ้ำไป
คุณฟราเน็ก เซโกซี นักสังคมวิทยา ผู้เชี่ยวชาญศาสนาอิสลามของฝรั่งเศสบอกว่า อิหม่ามที่เกิดในต่างประเทศเหล่านี้ มักไม่พร้อมที่จะทำหน้าที่การสอนศาสนา และคุณเจลู เซดิกิ ผู้อำนวยการโครงการฝึกอบรมโต๊ะอิหม่ามในกรุงปารีสก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ โดยยกตัวอย่างว่าการสอนที่สุเหร่าบางแห่งนั้นบอกว่า ชาวมุสลิมสามารถมีภรรยาได้ถึง 4 คน แต่แท้จริงแล้วการมีภรรยามากกว่า 1 คนนั้น ผิดกฏหมายของฝรั่งเศส
ในขณะที่การให้การอบรมนักสอนศาสนาชาวอิสลามเหล่านี้ ให้เข้าใจระบบสังคมกฏหมายและฝรั่งเศสมีความสำคัญ แต่การจบหลักสูตรก็ไม่ได้หมายความว่า นักสอนศาสนาเหล่านี้จะมีงานทำ ทั้งนี้เพราะว่าคุณเจลู เซดิกิชี้ว่าชุมชนมุสลิมหลายแห่งในฝรั่งเศสนั้น ไม่สามารถจะจ่ายเงินจ้างอิหม่ามให้ทำหน้าที่สอนศาสนาแบบเต็มเวลาได้ แต่นักสอนศาสนาบางคนในฝรั่งเศสซึ่งเป็นชาวต่างชาติเช่นชาวอัลจีเรียหรือชาวตุรกีนั้น ก็มักได้รับค่าตอบแทนจากรัฐบาลของตน