ผมหรือขนตามร่างกายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี แต่จะมีมากมีน้อยนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และก็แปลกที่บางคนก็อยากมีผมหรือขนเพิ่มขึ้นจนต้องไปปลูกผมปลูกหนวดกัน แต่บางคนกลับต้องการกำจัดเส้นผมหรือขนเหล่านั้นทิ้ง ทั้งโกน ถอน ตัด หรือแม้กระทั่งใช้ขี้ผึ้งลอกออก แต่ที่น่าแปลกมากที่สุดคือคนบางคนคิดว่าตัวเองมีขนที่หนึ่งมากเกินไป ในขณะที่อีกที่หนึ่งก็มีน้อยเกินไป
อาจารย์ Angela Christino แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียศึกษาเรื่องผมๆขนๆมานานหลายปี ล่าสุดอาจารย์ทำการวิจัยเพื่อศึกษาว่ายีนหรือลักษณะทางพันธุกรรมตัวไหนที่ส่งผลต่อจำนวนและขนาดเส้นผมของคนแต่ละคน
อาจารย์ Christino บอกว่าจากการศึกษาพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่มีผมบางหร็อมแหร็ม พบว่าคนเหล่านั้นได้รับถ่ายทอดโครโมโซมตัวที่ 13 จากบรรพบุรุษมามากกว่าคนพื้นที่อื่นที่มีผมหนากว่า และเมื่อศึกษาต่อไปเธอพบว่ามียีนหรือลักษณะทางพันธุกรรมอยู่ตัวหนึ่งที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเส้นผม
เธอบอกว่าเมื่อเจ้ายีนตัวที่ว่านี้มีการเปลี่ยนแปลงหรือกลายพันธ์ออกไป ก็จะทำให้เกิดเป็นเส้นผมหรือขนลักษณะต่างๆไม่ว่าจะหยิกฟู เบาบาง หรือดกรกครึ้ม และอาจมีบางคนที่เป็นแบบผสม อย่างไรก็ตาม เมื่อแก่ตัวลง เส้นผมของคนส่วนใหญ่ก็จะหลุดร่วงไปตามกาลเวลา
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียผู้นี้อธิบายการทำงานของยีนที่ว่านี้ ว่า จะช่วยสร้างสารโปรตีนบนผิวของเซลล์รับการกระตุ้นที่คอยควบคุมการเจริญเติบโตของเส้นผม ซึ่งเจ้าเซลล์ดังกล่าวอาจถูกปรับเปลี่ยนได้ง่ายๆ กล่าวคือ ถ้าต้องการจะ ลดจำนวนเส้นผมหรือขนหน้าแข้งลงก็จัดการทำลายเซลล์ชนิดนี้ทิ้ง แต่ถ้าต้องการจะให้ผมหนาหรือขนดก ก็อาจจะใช้วิธีกระตุ้นให้เซลล์ดังกล่าวทำงานมากขึ้น
เวลานี้คณะนักวิจัยกำลังศึกษาต่อไปเพื่อหาส่วนประกอบของยาที่สามารถนำมาใช้กับยีนควบคุมเส้นผมที่เพิ่งค้นพบใหม่นี้ คาดว่าหากประสบผลสำเร็จ ยาดังกล่าวจะขายดีเป็นเทน้ำเทท่าแน่นอน เพราะโลกนี้ยังมีผู้คนอีกมากมายที่ไม่พอใจกับจำนวนเส้นผมหรือขนของตัวเอง บ้างก็ว่าตรงนี้มีน้อยเกินไป บ้างก็ว่าตรงนั้นมากเกิินไป เรียกว่าหาความพอดียากจริงๆ แต่ไม่ว่าจะปลูกหรือจะถอนก็ขอให้พอดีๆ อย่ามากเกินไปจนกลายเป็นมนุษย์วานร หรืออย่าน้อยเกินไปจนดูเหมือนไก่ต้ม เรียกว่าเดินทางสายกลางดีที่สุด