ทุกปีโรคปอดบวมจะคร่าชีวิตเด็กๆ ทั่วโลกไปกว่า 2 ล้านคน แต่ขณะนี้นักวิจัยได้ค้นพบการดูแลรักษาเด็กๆ ที่ป่วยเป็นโรคนี้ที่บ้าน ซึ่งดูเหมือนว่าดีกว่าการเข้าไปนอนรับการรักษาที่โรงพยาบาลแล้วด้วย
โรคปอดบวมเป็นสาเหตุการตายอันดับสูงที่สุดสำหรับกลุ่มเด็กที่อายุต่ำว่า 5 ปี โดยแต่ละปี มีเด็กกว่า 2 ล้านคนเสียชีวิตจากโรคนี้ และส่วนใหญ่เป็นเด็กที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ในส่วนของประเทศที่พัฒนาแล้ว สาเหตุใหญ่ของโรคปอดบวมจะเกิดจากเชื้อไวรัส แต่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โรคนี้กว่าร้อยละ 60 จะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ องค์การอนามัยโลกประกาศว่า เด็กที่ป่วยเป็นโรคปอมบวมร้ายแรงควรจะเข้าไปรับการรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลและเข้ารับการฉีดยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการ แต่สำหรับครอบครัวที่ยากจนแล้ว พวกเขาไม่มีเงินพอที่จะเข้ารับการรักษาหรืออาจจะอาศัยอยู่ห่างไกลโรงพยาบาลเกินกว่าที่จะเดินทางไปได้
แต่ขณะนี้ผลงานวิจัยชิ้นใหม่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากองค์การอนามัยโลกและหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ค้นพบว่าการรักษาโรคด้วยการรับประทานยาที่บ้านอาจจะดีกว่าการเข้ารับการรักษาด้วยการฉีดยาและเข้าเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยงานวิจัยชิ้นนี้ทำขึ้นใน 5 เมืองของปากีสถาน โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ของมหาวิทยาลัยบอสตัน การศึกษานี้ใช้กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กที่มีอายุระหว่าง 3 – 5 ปี จำนวนกว่า 2,000 คน ครึ่งหนึ่งเป็นเด็กที่เข้ารับการรักษาด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะ เป็นเวลา 48 ชั่วโมงในโรงพยาบาล ส่วนอีกครึ่งหนึ่งนอนพักอยู่ที่บ้าน และรับประทานยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 5 วัน แต่การรักษาแบบนี้ก็ไม่ได้ผลในเด็ก 87 คนที่รักษาในโรพยาบาล และเด็กอีก 77 คนที่รักษาที่บ้าน ซึ่งเด็กเหล่านี้จะต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่น และระหว่างการวิจัยนี้ มีเด็กเสียชีวิต 5 คน โดย 4 คน เป็นกลุ่มเด็กที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
ดร.ชามิม คาซี เจ้าหน้าที่การแพทย์ขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า การค้นพบครั้งใหม่นี้จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวเด็ก ครอบครัว และโรงพยาบาล เพราะการรักษาที่โรงพยาบาลอาจจะทำให้เด็กติดโรคอื่นเพิ่มไปอีกได้ ขณะที่หลายโรงพยาบาลก็แออัด และการรักษาที่บ้านก็ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าด้วย
นอกจากนี้ จากการศึกษาในแอฟริกา เอเชีย ยุโรป และ อเมริกาใต้ ก็ยังมีผลออกมาตรงกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการให้เด็กที่ป่วยเป็นโรคปอดบวมร้ายแรงรับประทานยาปฏิชีวนะมีผลเท่ากันกับการฉีดยา แต่ในบางรายที่ป่วยหนักมากการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก็ยังคงเป็นเรื่องจำเป็น ดังนั้นจากผล การวิจัยนี้ องค์การอนามัยโลกจะเปลี่ยนคำแนะนำเรื่องการรักษาโรคปอดบวมในเด็กใหม่ในปีนี้