หลังจากที่จัดตั้งเป็นองค์กรมานาน 40 ปี สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน จะมีสถานภาพทางกฎหมายอย่างเต็มที่เมื่อบรรดาชาติภาคีร่วมกันลงนามในกฎบัตรฉบับแรกขององค์กรในวันอังคารหน้านี้ที่การประชุมสุดยอดที่สิงคโปร์
และจากร่างกฎบัตรที่รั่วไหลออกมาให้สื่อได้อ่านกันล่วงหน้า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาแล้วว่า แม้จะมีการกำหนดกฎระเบียบขององค์กรสำหรับชาติภาคี แต่กลไกที่จะบังคับใช้กฎเกณฑ์เหล่านั้น ยังอ่อนมาก และอำนาจที่จะจัดการกับสมาชิกที่ก่อปัญหาให้ ก็ถูกจำกัดด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับการรวมตัวของกลุ่มประเทศในระดับภูมิภาคอื่นๆแล้ว อาเซียนมีน้ำหนักและความน่าเชื่อถือน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ แม้ว่าอาเซียนจะมีประชากรรวมกันแล้วมากกว่า 500 ล้านคนก็ตาม
สัดส่วนการค้าโลกของอาเซียนยังน้อย และมักถูกตำหนิวิพากษ์ว่าไม่มีพลังหรือเจตนารมณ์ในการที่จะดำเนินงานทางด้านมนุษยธรรมและปัญหาสังคมให้ได้ผลอย่างจริงจัง ตัวอย่างที่มักถูกนำมาสนับสนุนการตำหนิวิพากษ์ดังกล่าว คือ การที่อาเซียนไม่สามารถผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประชาธิปไตยในพม่าได้ แม้ว่าสหรัฐ และสหภาพยุโรปจะได้เรียกร้องให้อาเซียนทำเช่นนั้นมาหลายครั้งหลายหนแล้วก็ตาม
คุณ Roshan Jason ผู้อำนวยการบริหารของที่ประชุมระหว่างรัฐสภาของอาเซียน กล่าวว่า เท่าที่ภาคีอาเซียนได้ทำไปในเรื่องพม่า คือดีแต่พูด ในขณะที่ภาคีอาเซียนหลายประเทศทำการค้าหรือข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับคณะทหารที่ปกครองพม่าที่ให้ผลประโยชน์แก่ตนเป็นอย่างมาก และว่า ถ้าอาเซียนอยากเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของนานาชาติ ก็ต้องมีรัฐธรรมนูญ หรือกฎบัตรที่แข็งขันและมีเจตนารมณ์ที่จะปฏิบัติตามนั้นได้จริง
คุณ Hiro Katsumata ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาเซียนของสถาบันการป้องกันและการศึกษายุทธศาสตร์ที่สิงคโปร์ บอกว่า ร่างกฎบัตรของอาเซียนที่รั่วไหลออกมาให้เห็นนั้น อ่อนกว่าที่นานาชาติคาดหวังกันไว้มาก โดยเฉพาะในด้านการลงโทษ และบังคับใช้ และมาตรการสำหรับการลงโทษ ซึ่งเป็นการแสดงถึงข้อจำกัดสำหรับบรรดาภาคีอาเซียนในการที่จะดำเนินการให้แตกต่างไปจากประเพณีนิยม หรือการดำเนินการทูตแบบอาเซียน นักวิชาการผู้นี้ไม่คิดว่า บรรดาผู้นำอาเซียนอยากจะพูดเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนในพม่า ด้วยเหตุผลสองประการด้วยกัน ประการแรก ภาคีอาเซียนไม่อยากผลักให้พม่าหันไปหาจีนเป็นที่พึ่ง และประการที่สอง บรรดาผู้นำอาเซียนไม่อยากพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนในพม่า เพราะกลัวว่าจะหวนเข้าประเทศของตนเอง แต่ที่คาดกันว่า หัวข้อสำคัญที่บรรดาผู้นำอาเซียนจะให้ความสนใจกันเป็นอย่างมากในที่ประชุมสุดยอดครั้งนี้ คือกฎบัตรฉบับใหม่กับผลกระทบต่อการลงทุนและการค้า ภาคีอาเซียนกล่าวแสดงความหวังกันไว้ว่า กฎบัตรฉบับนี้จะช่วยให้ประเทศคู่ค้าต่างๆ อย่างเช่น สหภาพยุโรป มีความเชื่อมั่นในอาเซียนมากขึ้น เพราะเวลานี้มีกฎข้อบังคับผูกพันให้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว