ในแต่ละปี รัฐบาลอเมริกันจะให้วีซ่าเข้าเมืองประเภทถาวร หรือ Green Card จำนวน 50,000 ใบแก่ผู้คนทั่วโลกด้วยวิธีสุ่มจับ หรือที่เรียกว่า Visa Lottery และสำหรับในปีหน้าก็เช่นกัน ผู้คนในหลายประเทศจะมีความหวังว่าจะได้กรีน การ์ด จากการสุ่มจับดังกล่าว ยกเว้นผู้คนใน 20 ประเทศ อย่างเช่นเม็กซิโก อินเดีย จีน และรัสเซีย ซึ่งคนจากประเทศเหล่านี้กว่า 50,000 คนที่ได้รับกรีน การ์ด ไปแล้วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
รัฐสภาสหรัฐตั้งโครงการดังกล่าวเมื่อปี 2533 เพื่อสร้างความหลากหลายด้านประชากรในประเทศ และเฉพาะปีที่แล้วโครงการดังกล่าวนี้ได้รับใบสมัครจากผู้คนถึงกว่า 6 ล้าน 4 แสนคน โดยส่วนใหญ่มาจากทวีปอาฟริกาและเอเชีย
นายโทนี่ เอ็ดสัน รองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ฝ่ายบริการวีซ่าอธิบายว่า รัฐสภาอเมริกันสร้างโครงการ Diversity Visa หรือวีซ่าเพื่อเพิ่มความหลากหลายด้านประชากรนี้ขึ้นมา เพื่อจะให้คนจากประเทศซึ่งไม่ค่อยมีโอกาสได้อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในอเมริกา ได้มีโอกาสมากขึ้น โดยจะมีการให้น้ำหนักหรือโควต้าแก่ภูมิภาคซึ่งมีผู้คนเชื้อพันธุ์นั้นๆ อยู่ในอเมริกาเป็นจำนวนน้อย
คุณสมบัติขั้นต่ำของผู้สมัครคือ จบการศึกษาระดับมัธยมปลาย หรือมีประสบการทำงานอย่างน้อยสองปี ในสาขาที่ต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างน้อยสองปี ถึงแม้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้จะชี้ว่า ในปัจจุบันนี้คนที่จะอยู่รอดได้ในอเมริกานั้น ควรต้องมีการศึกษาสูงกว่าระดับมัธยมปลายก็ตาม อันที่จริงแล้วข้อโต้แย้งเกี่ยวกับโครงการ Visa Lottery ดังกล่าวนี้มีมากกว่าคุณสมบัติ เพราะว่าเรื่องการกำหนดคุณสมบัติ หรือรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ เป็นโอกาสให้มีผู้ฉวยโอกาสหลอกลวงว่าจะช่วยได้ หรือทำเอกสารปลอมขึ้นมา และคำตำหนิอีกด้านหนึ่งนั้น มาจากผู้ที่เกรงว่าโครงการ Visa Lottery นี้จะเป็นโอกาสให้ผู้ก่อการร้ายยื่นใบสมัคร และอาจได้รับกรีน การ์ดเพื่ออาศัยอยู่ในอเมริกา
แต่ข้อโต้แย้งที่สำคัญที่สุดที่อาจกำหนดอนาคตของโครงการนี้ เห็นจะได้แก่เรื่องงบประมาณ เพราะว่าเมื่อกลางปีนี้ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐผ่านร่างกฎหมาย ที่จะยกเลิกการให้เงินสนับสนุนโครงการดังกล่าว ในขณะที่วุฒิสภาอเมริกันก็ผ่านร่างกฏหมายซึ่งมีเนื้อหารคล้ายคลึงกันในเดือนกันยายน
ดังนั้นขณะนี้อนาคตของโครงการ Diversity Visa Lottery จึงอยู่ในมือของคณะกรรมาธิการร่วมของทั้งสองสภา ที่จะต้องตัดสินใจว่า ในปีหน้าผู้สมัคร 50,000 คนจากหลายประเทศทั่วโลก จะยังมีโอกาสถูกแจ็คพอต หรือถูกกิน