ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เอเชียประสบปัญหา ปริมาณปลาและสัตว์น้ำลดลง มากที่สุดในโลก


การประมงอย่างไม่ลดละทั่วโลกทำให้ปริมาณปลาและสัตว์น้ำในทะเลลดลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเอเชีย กลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ถ้าผู้บริโภคและผู้ขายปลีกร่วมมือกันกดดันแล้ว อาจมีการประมงแบบยั่งยืนเกิดขึ้นได้ในภูมิภาค

องค์การอาหารและการเกษตรของสหประชาชาติประมาณว่า ปริมาณปลาและสัตว์น้ำในทะเลทั่วโลก ลดลงไปสามในสี่ เนื่องมาจากการประมง และว่าการจับสัตว์น้ำอย่างไม่เลือกหน้าและไม่ลดละ ยังทำลายความหลากหลายของสัตว์น้ำในทะเลในหลายๆส่วนของโลกด้วย

ผลที่ตามมาคือ การสูญเสียความมั่นคงทางด้านอาหารและประชากรโลกเป็นจำนวนมากสูญเสียแหล่งที่มาของอาหาร

เอเชียประสบปัญหาที่ว่านี้มากกว่าใครเพื่อน ทั้งนี้เพราะภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค ไม่เป็นแต่เพียงแหล่งที่มาของปลาและสัตว์น้ำอื่นๆที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งบริโภคอาหารทะเลใหญ่ที่สุดในโลกด้วย

ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าปลามากที่สุดในโลกในแง่ของมูลค่า ในขณะที่จีนเป็นผู้นำเข้าปลามากที่สุด ในแง่ของปริมาณ

หูฉลามเป็นอาหารราคาแพง และเป็นที่นิยมทั้งในฮ่องกง และในจีน แต่คุณ Shelley Clarke ผู้เชี่ยวชาญการประมงคนหนึ่งในเอเชีย กล่าวว่า ไม่มีตัวเลขที่เชื่อถือได้ ที่จะระบุว่าในแต่ละปีมีการจับฉลามกันมากน้อยเพียงใด สำหรับการทำหูฉลาม

ในการปาฐกถาที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศในฮ่องกงเมื่อวันพุธ ผู้เชี่ยวชาญการประมงคนนี้ บอกว่า ไม่ค่อยจะมีการเก็บตัวเลขเกี่ยวกับการจับปลาฉลาม โดยมีเหตุผลหลายข้อด้วยกัน ข้อหนึ่งนั้น คือการโยนปลาคืนสู่ทะเลเมื่อตัดครีบออกมาแล้ว

คุณ Shelley Clarke เลยไปสำรวจดูปลาที่ตลาดอาหารทะเลในฮ่องกง และลองคำนวณตัวเลขเอง

และพบว่า จากการอาศัยตลาดในฮ่องกงเป็นพื้นฐาน ประมาณได้ว่า การจับปลาฉลามเพื่อตัดครีบปลามาทำหูฉลามนั้นมีจำนวนสูงกว่าที่เคยคาดกันไว้สามถึงสี่เท่าตัว

คุณ John White ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาของ Marine Stewardship Council ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม และจัดทำการให้การรับรองภูมิภาคต่างๆของโลกที่มีการจัดการประมงแบบยั่งยืน เจ้าหน้าที่ของกลุ่มพิทักษ์สัตว์น้ำในทะเลผู้นี้ ให้ความเห็นว่า ถ้าคนในเอเชียต้องการรับประทานอาหารทะเลต่อไป ก็จะต้องร่วมมือกันกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีทำการประมง

ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาขององค์กรพิทักษ์สัตว์ในทะเล กล่าวว่า จะต้องเรียกร้องให้ผู้บริโภคและผู้ขายปลีกร่วมกันกดดันผู้จัดหาปลาให้ดำเนินการประมงแบบยั่งยืน จึงจะเริ่มแก้ปัญหาที่ว่านี้ได้

คุณ John White บอกว่า ผู้ขายปลีกบางรายในเอเชียเริ่มขายอาหารทะเลที่ประทับตราว่ามาจากบริเวณที่มีการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมกันบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีบริเวณการประมงใดๆในเอเชียที่ได้รับการรับรองว่าเป็นแหล่งการประมงแบบยั่งยืน ซึ่งก็หมายความว่า ปัญหาเรื่องการประมงอย่างไม่คิดถึงอนาคต ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของเอเชียอยู่ต่อไป

XS
SM
MD
LG