ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การประท้วงเนื่องจากความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจในพม่า


เมื่อราวๆ 19 ปีที่แล้ว ก็มีการประท้วงที่นำไปสู่การปราบปรามอย่างนองเลือดในพม่า เหมือนอย่างที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ คำถามก็คือ ครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนอย่างไรบ้าง

การประท้วงในพม่าเมื่อปีค.ศ. 1988 และที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ มีสาเหตุสืบเนื่องมาจากความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจต่อประชาชนทั่วไป

เมื่อปีค.ศ. 1987 พลเอกเน วิน ผู้เผด็จการทหารที่ปกครองประเทศอยู่ สั่งลดค่าเงิน ซึ่งส่งผลกระทบประชาชนทั้งประเทศอย่างรุนแรง ส่วนในปีนี้ รัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศปล่อยให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 500 % ซึ่งก่อให้เกิดความลำบากยากแค้นทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Bridget Welsh ที่ School of Advanced International Studies ของมหาวิทยาลัย John Hopkins ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า เศรษฐกิจพม่าทรุดโทรมอย่างหนัก และในขณะที่ประชาชนทั่วไปประสบความยากแค้น บรรดานายทหารชั้นนายพลอยู่อย่างสุขสบาย

อาจารย์มหาวิทยาลัย John Hopkins กล่าวว่า คนธรรมดาเห็นนายทหารและเจ้าหน้าที่รัฐบาลมีรถดีๆใช้ มีบ้านสวยๆอยู่ ขัดกับสภาพความเป็นอยู่ของพวกตนเป็นอย่างมาก และเมื่อขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 500 % ก็เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้คนทั่วไปเป็นอย่างมาก

ในการปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อ 19 ปีที่แล้ว ทางฝ่ายทหารดำเนินการอย่างรวดเร็ว แต่คราวนี้ดูรัฐบาลทหารพม่ามีปฏิกิริยาเชื่องช้าลง เพราะมีการประท้วงกันมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมแล้ว และก็มีกันหลายแห่งด้วย คุณ Robert Templer ผู้อำนวยการโครงการเอเชีย ขององค์กร International Crisis Group ให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรัฐบาลย้ายเมืองหลวงออกไปจากนครย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่า

เจ้าหน้าที่ของ International Crisis Group ผู้นี้บอกว่า เมื่อปี 2005 รัฐบาลทหารของพม่าย้ายไปอยู่ที่เมืองหลวงใหม่ Nyapidaw ซึ่งห่างจากนครย่างกุ้ง 320 กิโลเมตร และก็ห่างจากการประท้วง จึงทำให้สงสัยว่า รัฐบาลมีความเข้าใจสถานการณ์จริงๆมากน้อยแค่ไหน

ศาสตราจารย์ Marvin Ott ผู้เชี่ยวชาญทางด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของ National War College ของสหรัฐ กล่าวว่า การที่พระภิกษุสงฆ์ร่วมการประท้วงมาตั้งแต่แรก เป็นการท้าทายอำนาจของฝ่ายทหารอย่างมากทีเดียว

นักวิชาการวิทยาลัยสงครามแห่งชาติของสหรัฐกล่าวว่า พระสงฆ์เป็นผู้รักษาและเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมประเพณีชาวพุทธ เป็นส่วนของสังคมที่ได้รับการเคารพนับถืออย่างสูง เพราะฉะนั้นเมื่อออกมาวิพากษ์วิจารณ์คณะผู้ปกครองประเทศ จึงมีอิทธิพลมาก

นักวิเคราะห์เชื่อว่า คงจะมีการโต้แย้งกันเองในหมู่คณะทหารที่ปกครองประเทศเกี่ยวกับการประจันหน้ากับฝ่ายสงฆ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Bridget Walsh ของมหาวิทยาลัย John Hopkins ให้ความเห็นว่า ฝ่ายที่แข็งกร้าวในคณะทหารคงขุ่นเคืองพวกพระมากทีเดียว เพราะได้พยายามซื้อตัวพระบางส่วนไว้ก่อนหน้านี้

อาจารย์ Bridget บอกว่า พวกทหารซื้อตัวพระ สร้างเจดีย์ให้ใหม่ ให้เงินบริจาคมากทีเดียว และใช้วัดเป็นเครื่องยกยอตนเอง และเมื่อเกิดเรื่องขึ้นเช่นนี้ จึงรู้สึกเหมือนกับว่าถูกหักหลัง

ประเด็นหนึ่งที่ยังไม่มีใครให้ความเห็นได้อย่างแน่ชัด คือใครเป็นผู้ประสานงานการประท้วงของพวกพลเรือน นางออง ซาน สุจี ผู้นำของฝ่ายค้านที่เรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อ 19 ปีที่แล้ว ถูกควบคุมตัวให้อยู่แต่ภายในบ้านมาเป็นเวลา 12 ปีในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ผู้นำคนอื่นๆในพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของเธอแก่ตัวลง บ้างก็เสียชีวิตไปแล้ว หรือไม่ก็ถูกคุมขัง

อาจารย์ Bridget Welsh บอกว่า ต้องยอมรับกันว่าผู้จัดการประท้วงครั้งนี้ แม้จะมีความคิดเห็นสอดคล้องกับฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยและฝ่ายสงฆ์ แต่ก็เป็นคนรุ่นใหม่ และก็จะมีทัศนวิสัยที่แตกต่างออกไปอย่างแน่นอน

อีกด้านหนึ่งที่การประท้วงครั้งนี้แตกต่างไปจากครั้งก่อน ก็คือเทคโนโลยี สมัยนี้มีทั้งโทรศัพท์มือถือ กล้องวิดีโอ และคอมพิวเตอร์ จึงไม่มีทางที่รัฐบาลพม่าจะสกัดกั้นมิให้ภาพการประท้วงและการปราบปรามเผยแพร่ไปทั่วโลกได้เหมือนอย่างคราวที่แล้ว

XS
SM
MD
LG