สำนักงานอาหารและการเกษตรสหประชาชาติหรือ FAO จัดการประชุมรอบพิเศษที่กรุงโรม ประเทศอิตาลีในสัปดาห์นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกที่มีต่อผลิตผลทางการเกษตร ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า หากยังมีการปล่อยควันพิษทางอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกไม่นานอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้น ฝนจะตกชุก เกิดความแห้งแล้งและน้ำท่วมซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ซึ่งจะคุกคามพื้นที่การเกษตรทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าหากยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น อีกประมาณ 80-90 ปี การเกษตรโลกจะประสบปัญหาอย่างรุนแรง ดังเช่นที่คุณ William Cline นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากศูนย์พัฒนาโลกและสถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ Peterson ระบุไว้ในรายงานฉบับล่าสุดเรื่อง ภาวะโลกร้อนกับการเกษตร
คุณ William Cline บอกว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้น ในอีก 80 ปีข้างหน้า ผลผลิตทางการเกษตรทั่วโลกอาจลดลงประมาณ 15-20% ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ผลผลิตในอินเดียอาจลดลงประมาณ 30-40% และที่อาฟริกากับอเมริกาใต้อาจลดลง 20% หรือมากกว่านั้น ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเนื่องจากอยู่ในเขตร้อน
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสผู้นี้บอกว่า เวลานี้ประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรต่างมีอุณหภูมิสูงมากจนใกล้เคียงหรือเกินกว่าระดับอุณหภูมิที่ดีที่สุดสำหรับพืชผลทางการเกษตร และเมื่อโลกยิ่งร้อนขึ้นๆ อุณหภูมิในประเทศเหล่านั้นก็จะยิ่งร้อนกว่าที่พืชผลต่างๆจะเติบโตหรือดำรงชีวิตอยู่ได้
อินเดียคือประเทศแถบเส้นศูนย์สูตรที่อาจสูญเสียความสามารถในการผลิตทางการเกษตรมากที่สุด ในขณะที่จีนและสหรัฐซึ่งอยู่เกินเส้นศูนย์สูตรมาเล็กน้อย อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่า ส่วนประเทศอื่นๆเช่น ซูดานและเซเนกัลอาจถึงขั้นเกิดการพังทลายของภาคการเกษตรเลยทีเดียว เพราะคาดว่าปริมาณผลผลิตทางการเกษตรจะลดลงจากปัจจุบันถึง 50%
ในขณะเดียวกัน คุณ William Cline กล่าวว่าการใช้วิธีการชลประทานเพื่อช่วยรับมือกับปัญหาผลิตผลทางการเกษตรลดลงเนื่องจากภาวะโลกร้อนนั้น อาจจะไม่ได้ผล เพราะเป็นวิธีที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงโดยเฉพาะในพื้นที่ที่กันดารน้ำ และยังบอกอีกว่าผลการวิจัยครั้งนี้ค่อนข้างมองผลกระทบของภาวะโลกร้อนในแง่ดีเนื่องจากวิเคราะห์ข้อมูลส่วนใหญ่จากแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ยังต้องมีเหตุการณ์อื่นๆที่ส่งผลให้ปริมาณพืชผลทางการเกษตรลดลงอย่างมาก เช่น โรคระบาด ศัตรูพืช รวมทั้งภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม เป็นต้น
นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากศูนย์พัฒนาโลกสนับสนุนให้ประเทศต่างๆใช้มาตรการควบคุมปริมาณมลพิษอย่างเข้มงวด เช่น จัดเก็บภาษีจากการใช้พลังงานที่มีสารคาร์บอนเป็นส่วนผสม แล้วนำเงินส่วนนั้นไปใช้ในการพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่นๆ นอกจากนี้ที่ประชุม FAO ที่กรุงโรมยังเสนอวิธีการอื่นๆอีกหลายวิธี และผู้ร่วมประชุมต่างเห็นด้วยว่าในขณะที่ภาคการเกษตรนั้นได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะโลกร้อน แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำใให้เกิดปัญหาดังกล่าวด้วยเช่นกัน กล่าวคือกว่า 30% ของก๊าซที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก เกิดขึ้นในภาคการเกษตร ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ควรมีการจัดการระบบการเกษตรที่ดีกว่าเดิมเพื่อลดมลพิษ และแม้แต่เกษตรกรก็ต้องช่วยกันเท่าที่จะทำได้เพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน