การประชุมประจำปีของ APEC หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค เริ่มต้นขึ้นแล้วที่นครซิดนี่ย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นที่คาดกันว่า หัวข้อสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือเรื่องอากาศโลกร้อน และการหาหนทางแก้ไข
นายกรัฐมนตรี John Howard ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ จัดเรื่องการเปลี่ยนแปลงอากาศโลกไว้เป็นเรื่องแรกในระเบียบวาระการประชุม และกล่าวแสดงความหวังไว้ว่า ในการประชุมสุดยอดของผู้นำภาคี APEC ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 8 และ 9 นี้ บรรดาผู้นำจะสามารถร่วมกันหาทางแก้ไขสภาพโลกร้อนที่ไม่ต้องมีการกำหนดเป้าหมายลดมลภาวะขึ้นมาได้
สหรัฐและออสเตรเลียเป็นสองประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาเกียวโต ซึ่งกำหนดเป้าหมายการลดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และแก๊สเรือนกระจกอีก 5 ชนิดที่ทำให้อากาศโลกร้อน
คุณ Emmy Hafidz ผู้อำนวยการองค์กร Greenpeace ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่เชื่อว่าข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียจะนำไปสู่ความสำเร็จได้
เจ้าหน้าที่ของ Greenpeace ผู้นี้ให้ความเห็นว่า ออสเตรเลียและสหรัฐไม่อยากจะยอมรับว่า ดำเนินการผิดที่ไม่ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาเกียวโต และว่าจริงๆแล้ว สองประเทศนี้มีแผนที่จะจัดทำโครงการลดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของตนเอง แต่ก็เห็นแต่พูดเท่านั้น
คาดว่า อย่างมากที่สุดที่บรรดาผู้นำ APEC จะทำได้ คือการประกาศเป้าหมายการลดแก๊สเรือนกระจก โดยไม่มีการบังคับใช้
ส่วนเรื่องการค้านั้น นักวิชาการ John McKay แห่งศูนย์ APEC ศึกษาของมหาวิทยาลัย Monash ที่เมือง Melbourne บอกว่า การเจรจารอบโดฮาขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้เป็นที่สนใจ เพราะภาคี APEC มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าโลกมากกว่า 50%
แต่ในขณะที่การเจรจารอบโดฮาจะต้องฟันฝ่าอุปสรรคเรื่องการลดกำแพงภาษีสำหรับสินค้าการเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมและการบริการ ภาคี APEC ยังจะพิจารณาเรื่องการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการปูพื้นสำหรับการจัดตั้งเขตการค้าเสรีต่อไปด้วย
คุณ John McKay นักวิชาการของศูนย์ APEC ศึกษา ให้ความเห็นว่า นี่เป็นวิธีที่ APEC จะชดเชยให้กับการที่ไม่มีความคืบหน้าในการเจรจาการค้าโลกได้ แต่ก็เตือนไว้ด้วยว่า แม้ในหมู่ภาคี APEC เอง ปัญหาเรื่องสินค้าการเกษตรก็จะยังเป็นอุปสรรคสำคัญอยู่ต่อไป เพราะทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะไม่ยอมเรื่องนี้ได้ง่ายๆ
ส่วนคุณ Yao Shunli แห่งศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของจีน บอกว่า ความปั่นป่วนในตลาดการเงินโลกเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้บรรดาผู้นำ APEC มีความวิตกกังวลด้วย
นักวิชาการจีนผู้นี้บอกว่า ที่วิตกกังวลโดยเฉพาะในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค คือ จีน กลุ่มภาคีอาเซียน และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสายงานการผลิตในเอเชีย ประเทศเหล่านี้ผลิตสินค้าส่งเข้าตลาดอเมริกา และถ้าเกิดวิกฤติการณ์การเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกา จะมีผลกระทบถึงเอเชียอย่างแน่นอน
มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การประชุมประจำปีของ APEC ไม่มีประโยชน์ มีแต่การพูด ไม่มีการปฏิบัติ นักวิชาการอย่างคุณ John McKay ไม่เห็นด้วย เพราะแม้จะเป็นแต่เพียงการพูดคุยกันเท่านั้น ก็เป็นประโยชน์ เพราะเรื่องที่จะต้องปรึกษาหารือกันนั้นมีมากมายหลายประเด็นด้วยกัน
คุณ Gerard Henderson อดีตที่ปรึกษาของรัฐบาลออสเตรเลียยืนยันว่า APEC ให้ประโยชน์ และว่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา APEC ช่วยให้มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิคมากขึ้น รวมทั้งในเรื่องการรักษาความมั่นคงในภูมิภาคในระดับหนึ่งด้วย