ลิ้งค์เชื่อมต่อ

โรคเลือดออกในปอด หรือ Pulmonary Sequestration


นายแพทย์สมศักดิ์ เกรียงไกรรัตน์ ศาสตราจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยน้อร์ธดาโคต้า และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด ประจำคลีนิคโรคหัวใจและปอด ศูนย์การแพทย์เซนต์อเล็กเซียส เมืองบิสมาร์ค รัฐน้อร์ธดาโคต้า ให้สัมภาษณ์ถึงอาการป่วยโรคเลือดออกในปอดของบุตรสาว

ลูกสาวของคุณหมอคือ น้องลินน์ เกรียงไกรรัตน์ เป็นแชมเปี้ยน สเก๊ตน้ำแข็ง ซึ่งเพิ่งชนะการแข่งขันสเก๊ตน้ำแข็งที่เล้คแพลสิด ในมลรัฐนิวยอร์ค และกำลังจะเป็นตัวแทนทีมสเก๊ตน้ำแข็งจากสหรัฐ เข้าร่วมแข่งขันที่เยอรมนีและรัสเซีย ในเดือนกันยายนและพฤศจิกายนนี้ แต่เมื่อสามปีก่อน เมื่ออายุได้เพียงสิบห้าปี น้องลินน์ล้มป่วยเป็นโรคเลือดออกในปอด ถึงกับต้องเข้ารับการผ่าตัด และต้องตัดปอดข้างขวาออกไปถึงครึ่งหนึ่ง นายแพทย์สมศักดิ์ อธิบายว่า โรคเลือดออกในปอดนี้ เกิดขึ้นมาแต่กำเนิด เป็นโรคที่หายากมาก แม้แต่ในภาษาไทยเองก็ไม่มีชื่อ แต่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Pulmonary Sequestration ซึ่งเป็นโรคปอดแต่กำเนิด ซึ่งเกิดจาก การหมุนตัวของอวัยวะทารกในครรภ์ในส่วนของปอดผิดไป และมีเส้นเลือดออกมาจากเส้นเลือดเเดงใหญ่ ตรงมาที่ปอดโดยตรง แทนที่จะออกมาจากทางข้างขวาของหัวใจ การที่มีเส้นเลือดออกมาจากเส้นเลือดแดงใหญ่โดยตางนี้ ทำให้มีความดันสูงมากประมาณ 100 มิลลิเมตรปรอท แทนที่จะเทียบกับปอดของคนธรรมดาโดยทั่วไป ที่ออกมาจากข้างขวาของหัวใจ ความดันแค่ประมาณน้อยกว่า 20 ความดันมากกว่าปรกติ ประมาณห้าเท่า เพราะฉะนั้น คนไข้ที่เป็นโรคนี้ เวลาเกิดมีการติดเชื้อหรือการอักเสบ จะเลือดออกมากกว่าปรกติเพราะความดันสูง ก็จะมีอาการเริ่มแรกด้วยการไอเป็นเลือด อย่างเช่นที่น้องลินน์ประสบมาเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา อย่างในรายพวกนี้ บางรายก็มาด้วยโรคเรื้อรัง เป็นปอดบวมรักษาไม่หาย

ก่อนที่จะรักษาต้องมีการวินิจฉัย เนื่องจากเป็นโรคที่พบน้อยมาก และถ้าหากเราไม่นึกถึงโรคนี้ จะทำให้วินิจฉัยผิดพลาด และรักษาผิดไปเป็นรักษาแบบโรคปอดบวม ให้ยาปฏิชิวนะไปเป็นเวลานานหลายอาทิตย์ รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย และกลับมาด้วยอาการเดิม ไอเป็นเลือดและเอ๊กซเรย์ก็ผิดปรกติเหมือนเดิม พวกนี้ ถ้าเรานึกถึงโรคนี้ ตามอายุและลักษณะที่พบเราก็ต้องส่งไปทำคอมพิวเต้อร์สแกนที่ปอด ด้วยการฉีดสีเข้าไป จะเป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนว่า มีเส้นเลือดผิดปรกติออกมาจากเส้นเลือดแดงใหญ่ตรงมาที่ปอด ส่วนล่างขวาของน้องลินน์ ในรายแบบนี้ ถ้าเป็นก็ต้องผ่าตัดทันที มีวิธีเดียวเท่านั้น เพราะถ้าไม่ผ่าตัด เลือดก็จะออกอยู่ตลอดเวลา และอาจจะเป็นรุนแรงได้ในภายหลัง สำหรับในรายของน้องลิน์ ได้ส่งให้หมอผ่าตัดหัวใจกับปอดเป็นคนทำผ่าตัดภายในโรงพยาบาลเดียวกันนี้ ก็ต้องเอาปอดส่วนข้างขวาออกไป ปอดข้างขวามีสามส่วน ส่วนบน ส่วนกลางและส่วนล่าง อันนี้ก็ตัดส่วนล่างออกไป ประมาณ 50 เปอร์เซนต์ของปอดข้างขวา ก็ไม่มีปัญหาอะไร ผ่าตัดได้ผลดี

ผลกระทบจากการผ่าตัดก็มีบ้าง แต่ไม่ได้ในแง่การหายใจ แต่เป็นในแง่ของการเจ็บเวลาไอหรือหัวเราะ ทั้งนี้เป็นเพราะว่า การผ่าตัดจะต้องเปิดทรวงอกทางด้านขวาให้กว้าง เพื่อที่หมอผ่าตัดจะได้ ตัดปอดส่วนล่างออกไปให้หมด การผ่าตัดชนิดนี้ ต้องลงรอยผ่าตัดอย่างน้อยที่สุดประมาณแปดนิ้ว และแยกซี่โครงออก การแยกซี่โครงอาจมีผลกระทบกระเทือนต่อเส้นประสาทใต้ซี่โครง เพราะฉะนั้นคนไข้พวกนี้ จะมีอาการเจ็บหลังการผ่าตัดเป็นเวลานาน แต่พูดถึงในแง่ของอ๊อกซิเจน หรือการเหนื่อยง่าย จะไม่มีผลมากเท่าไหร่ เพราะว่าปอดส่วนนี้เป็นส่วนที่ไม่ดีอยู่แล้ว และไปกดเปอดส่วนที่ดี อาจจะเป็นผลดีเสียอีก

XS
SM
MD
LG