ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทางการพม่า ควบคุมตัวผู้ชุมนุมประท้วงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อย่างน้อย 49 คน


รายงานข่าวกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบในพม่าออกลาดตระเวณทั่วกรุงย่างกุ้ง หลังการประท้วงที่มีติดต่อกันมาหลายวันในเรื่องราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสองเท่าตัว และแม้สภาพการณ์จะดูสงบ แต่บรรยากาศตึงเครียด

ทางการพม่ากล่าวว่า ได้ควบคุมตัวผู้ที่มีส่วนร่วมในการประท้วงในสัปดาห์ที่แล้วไว้อย่างน้อย 49 คน รายงานข่าวกล่าวว่า นักต่อสู้เรียกร้องชั้นแนวหน้า 13 คนที่ถูกควบคุมตัว เวลานี้ถูกย้ายไปไว้ที่เรือนจำ อินเซน ซึ่งอยู่นอกกรุงย่างกุ้ง ในจำนวนนี้มี มิน จอ แนง ซึ่งเป็นผู้นำคนหนึ่งในการเรียกร้องประชาธิปไตยรวมอยู่ด้วย. ถ้ามีการนำตัวคนเหล่านี้ขึ้นศาลดำเนินคดี โทษที่คนเหล่านี้อาจได้รับ คือการจำคุกนานถึง 20 ปี

การตัดสินใจเพิ่มราคาน้ำมันขึ้นเป็นสองเท่าตัวของคณะทหารที่ปกครองพม่า ทำให้ค่าโดยสารรถเมล์ และค่าแก๊สสูงขึ้นสำหรับชาวบ้านทั่วไป ขณะเดียวกัน การเดินขบวนประท้วงรัฐบาลเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้นได้ในพม่า และนักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้อาจลุกลามไปทั่วประเทศ และเป็นภัยต่อความมั่นคงของพม่าได้

รายงานข่าวเรื่องความไม่สงบในพม่า มีขึ้นในขณะที่นานาชาติมีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการตัดสินใจของคณะทหารที่ให้ปราบปรามการประท้วงอย่างสงบ ผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวว่า นอกจากจะมีการจับกุมนักต่อสู้เรียกร้องไปหลายสิบคน โดยที่บางคนนั้นถูกลากตัวและถูกทุบตีในท้องถนนแล้ว กำลังรักษาความมั่นคงของพม่า รวมทั้งตำรวจนอกเครื่องแบบ ยังกำลังออกลาดตระเวนทั่วกรุงย่างกุ้ง เพื่อดูว่าจะมีการจับกลุ่มประท้วงใหม่ๆ ต่อไปอีกหรือไม่

Tazrul Tahir เจ้าหน้าที่โครงการเอเชียอาคเนย์ของ Forum Asia กลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในกรุงเทพมหานครที่ติดตามเหตุการณ์ในพม่า กล่าวว่าการประท้วงที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว แม้จะมีคนไม่มากนัก แต่ก็ทำให้นึกถึงการประท้วงเมื่อปี พ.ศ. 2531 ที่เรียกร้องประชาธิปไตย และคณะทหารใช้ปืนและรถถังออกปราบ สังหารผู้คนไปราวๆสามพันคน นักวิเคราะห์ผู้นี้พูดถึงการประท้วงครั้งนี้ว่า ผลกระทบของการเพิ่มราคาน้ำมันจะไปไกลกว่าความเคลื่อนไหวเมื่อปี 2531 เพราะส่งผลโดยตรงถึงประชาชนคนธรรมดาทั่วไป และว่า ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าบริโภคอื่นๆ เช่น ข้าว และน้ำตาล เพิ่มขึ้นไปด้วย นักวิเคราะห์ของ Forum Asia ผู้นี้ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกันนี้ ได้โค่นล้มรัฐบาลที่ปกครองประเทศมาเป็นเวลานาน ทั้งในฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียมาแล้ว

หลายประเทศได้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารของพม่า เริ่มการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ขณะเดียวกัน นาย Ban Ki-moon เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า กำลังติดตามดูสถานการณ์ด้วยความห่วงกังวล และเรียกร้องให้ทางการพม่าใช้ความอดกลั้นในการจัดการกับผู้ประท้วง และขอให้ทั้งสองฝ่ายละเว้นจากการยั่วยุซึ่งกันและกัน และเลขาธิการสหประชาชาติเรียกร้องให้มีการจัดการเจรจาในทางที่สร้างสรรค์เพื่อให้มีการประนีประนอมระดับชาติ

เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว สหรัฐเรียกร้องให้รัฐบาลทหารของพม่าปล่อยตัวผู้ที่มีความเห็นคัดค้านรัฐบาลที่ถูกจับไป และเร่งเร้าให้คณะทหารผู้นำประเทศหันมาเจรจากับขบวนการประชาธิปไตยด้วย

XS
SM
MD
LG