ลิ้งค์เชื่อมต่อ

พม่าชุมนุมประท้วง เนื่องจากรัฐบาลทหารขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นอีกเท่าตัว


มีรายงานจากกรุงย่างกุ้งว่า ผู้ชุมนุมประท้วงหลายสิบคน เริ่มเดินขบวนในวันพฤหัสบดี และถูกกองกำลังรักษาความมั่นคง และผู้สนับสนุนรัฐบาลเข้าสกัดกั้น

ผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวว่า ผู้ประท้วงบางคนถูกทุบตี และลากตัวไปขึ้นรถยนต์ของรัฐบาล พาออกไปจากสถานที่ การชุมนุมประท้วงในวันพฤหัสบดีเป็นครั้งที่ 3 หลังจากที่รัฐบาลทหารของพม่า ตัดสินใจขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นอีกเท่าตัว ยังความยากลำบากมากขึ้นแก่ประชาชนที่ยากจนอยู่แล้ว

พม่ามีแหล่งก๊าซธรรมชาติ และแหล่งทรัพยากรอื่นๆ อยู่มากมาย และได้ประโยชน์จากการลงทุนของต่างประเทศ อย่างจีน และอินเดีย แต่พม่าก็ยังเป็นประเทศที่ยากจนมากประเทศหนึ่งในโลก ถึงแม้ราคาน้ำมันในโลกจะสูงขึ้น การขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจรายปีของพม่ายังน้อยกว่าปีละ 3 เปอร์เซนต์ ซึ่งต่ำสุดในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มีผู้วิพากษ์ตำหนิว่าปัญหาเศรษฐกิจของพม่านั้น เป็นเพราะรัฐบาลทหารจัดการผิดพลาด รัฐบาลทหารของพม่าซึ่งครองอำนาจมานาน 45 ปี ตั้งแต่ปี 2505 ควบคุมภาคเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ไว้ รวมทั้งด้านพลังงาน การผลิต และการค้าข้าว และอุตสาหกรรมหนัก

เดบบี้ สต็อดทาร์ท แห่งองค์การสิทธิมนุษยชน Alternative Asean Network for Burma กล่าวว่า น่าเสียดายที่พม่ามีแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์อย่างยิ่งประเทศหนึ่ง แต่มีรัฐบาลที่ขาดความรับผิดชอบอย่างไม่น่าเชื่อ และจัดการเศรษฐกิจผิดพลาดอย่างร้ายแรง เธอกล่าวว่ารัฐบาลพม่าต้องการที่จะซื้อปืนมากกว่าที่จะซื้ออาหารให้ประชาชน ตั้งแต่เข้ามาครองอำนาจ ทางการทหารของพม่า ไม่เคยลังเลที่จะใช้กำลังปราบปรามการชุมนุมประท้วง และจับกุมคุมขังผู้นำฝ่ายค้าน และผู้เห็นขัดแย้งกับรัฐบาลทหาร

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะออกคำเตือน แต่ก็ยังมีการชุมนุมประท้วงขึ้นมา นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า การชุมนุมประท้วงครั้งนี้ ส่อแสดงถึงความโกรธ เนื่องจากการที่รัฐบาลขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสภาพการณ์โดยรวมเกี่ยวกับภาวะยากจนที่สิ้นหวัง ซึ่งทำให้มีการท้าทายมากขึ้นต่อการควบคุมของรัฐบาล การชุมนุมประท้วงในที่สาธารณะแบบนี้ไม่ค่อยมีปรากฏในพม่า การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ ครั้งหลังสุดมีขึ้นในปี 2531 เนื่องจากความไม่พอใจในเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลทหารของพม่าใช้อาวุธปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม มีคนเสียชีวิตราว 3,000 คน

เมื่อเทียบกันแล้ว การชุมนุมประท้วงการขึ้นราคาน้ำมันไม่กี่วันมานี้ ซึ่งมีคนออกมาไม่กี่ร้อยคนนับว่าเล็กมาก คนที่ออกมาร่วมการชุมนุมครั้งนี้ มีอดีตผู้นำนักศึกษากลุ่มที่เรียกว่า คนรุ่น 88 ซึ่งเคยร่วมการชุมนุมประท้วงเมื่อปี 2531 หรือปี คศ. 1988 รวมอยู่ด้วยหลายคน ตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมประท้วงในวันอาทิตย์ เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ชุมนุมประท้วงมากกว่า 10 คน รวมทั้งอดีตผู้นำนักศึกษากลุ่มนั้นบางคน

ผู้สื่อข่าววีโอเอในกรุงวอชิงตันรายงานว่า สหรัฐและประเทศอื่นๆ เรียกร้องให้ทางการพม่าปล่อยตัวคนเหล่านั้นและขอให้ปล่อยนักโทษการเมืองคนอื่นๆ รวมทั้งนางออง ซาน ซูจี ผู้นำในการเรียกร้องประชาธิปไตยด้วย

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐประนามว่า รัฐบาลทหารของพม่า พยายามอย่างโจ่งแจ้งที่จะปราบปรามการประท้วงอย่างสงบของประชาชน

XS
SM
MD
LG