ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รัสเซียส่งเรือดำน้ำขนาดจิ๋วลงใต้น้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือ ปักธงชาติอ้างสิทธิอธิปไตย


เมื่อต้นเดือนสิงหาคม รัสเซียประกาศว่าได้ส่งเรือดำน้ำขนาดจิ๋วลงไปใต้น้ำแข็งที่ปกคลุมขั้วโลกเหนือ และปักธงชาติรัสเซียไว้ที่พื้นที่ใต้ทะเลดังกล่าว การดำเนินการของรัสเซียถือว่าเป็นความสำเร็จทางเทคโนโลยี

แต่ในทางกฎหมายแล้ว การกระทำดังกล่าวเพื่ออ้างสิทธิเหนือพื้นที่ใต้ขั้วโลกเหนือนั้น เป็นไปได้หรือไม่ ยังเป็นคำถามอยู่

อนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลขององค์การสหประชาชาติ (Convention on the Law of the Sea) ฉบับปี ค.ศ. 1982 ระบุไว้ว่า ประเทศที่มีชายฝั่งทะเลสามารถอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือไหล่ทวีปที่อยู่ในทะเลเกินเขตเศรษฐกิจ 200 ไมล์ทะเล หรือ 320 กม.ได้ ถ้าสามารถหาหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า พื้นที่ใต้ท้องทะเลนั้นเป็นส่วนต่อไหล่ทวีปของตนโดยธรรมชาติ

ห้าประเทศที่มีชายฝั่งทะเลรอบๆมหาสมุทรอาร์คติค และขั้วโลกเหนือ คือ สหรัฐ รัสเซีย แคนาดา นอรเวย์ และเดนมาร์คซึ่งเป็นเจ้าของกรีนแลนด์

รัสเซียส่ง Mir ซึ่งเป็นเรือดำน้ำขนาดจิ๋วที่ใช้สำหรับดำน้ำลึกพิเศษ และจุคนได้เพียงสามคน นำธงชาติลงไปปักไว้บนพื้นที่ใต้มหาสมุทรอาร์คติคเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม

นาย Peter Mackay รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของแคนาดาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า สมัยนี้ไม่ใช่ศตวรรษที่ 15 ที่จะตระเวนไปทั่วโลก เอาธงชาติไปปัก และอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือพื้นที่ได้

ส่วนนาย Tom Casey โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ กล่าวแสดงความไม่แน่ใจว่า ธงที่นำไปปักนั้น เป็นธงโลหะ ธงยาง หรือผ้าปูที่นอน แต่ไม่ว่าธงนั้นจะทำด้วยอะไรก็ตาม ไม่ได้เป็นธงที่จะให้สิทธิทางกฎหมายอย่างแน่นอน

นักวิเคราะห์กล่าวว่า นอกไปจากการปักธงแล้ว รัสเซียยังได้เก็บสารตัวอย่างจากพื้นที่ใต้ทะเล เพื่อจะนำไปยื่นต่อสหประชาชาติเป็นหลักฐานสนับสนุนการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่นอกเขตเศรษฐกิจของตน

นาย Lindsay Parson เจ้าหน้าที่ของศูนย์สมุทศาสตร์แห่งชาติที่เมือง Southampton ในอังกฤษ บอกว่ามาตรา 76 ในอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลพูดถึงบริเวณนอกเขตเศรษฐกิจ ซึ่งถูกจำกัดไว้ที่ 320 กม. จากชายฝั่ง ไว้ว่า ประเทศที่มีชายฝั่งจะอ้างสิทธิอธิปไตยขยายไหล่ทวีปของตนออกไปเหนือพื้นที่นอกเขต 320 กม.นั้นได้ ถ้ามีสภาพทางภูมิศาสตร์และธรณีวิทยาที่ถูกต้องเหมาะสม

รัสเซียได้เคยยื่นเรื่องขออ้างสิทธิดังกล่าวไว้แล้วเมื่อปีค.ศ. 2001 แต่คณะกรรมาธิการชุดพิเศษของสหประชาชาติ ซึ่งประกอบไปด้วยนักวิทยาศาสตร์ 21 คน ตัดสินว่า หลักฐานที่รัสเซียนำเสนอในเวลานั้นยังอ่อนไป

นับแต่นั้นมา นักวิทยาศาสตร์ของรัสเซียได้ตั้งหน้าตั้งตาทำงานเก็บข้อมูลเพิ่มเติม แต่ชาติอื่นๆที่มีชายฝั่งทะเลรอบๆมหาสมุทรอาร์คติคก็ไม่ได้อยู่เฉย ทั้งนี้ก็เพราะคาดกันว่า พื้นที่ใต้มหาสมุทรอาร์คติคในบริเวณขั้วโลกเหนือนั้น เป็นแหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติมหาศาล สำนักงานการสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐประมาณไว้ว่า ปริมาณน้ำมันและแก๊สธรรมชาติในบริเวณที่ว่านี้อาจมีมากถึง 25% ของปริมาณทั้งหมดในโลก

Joe MacInnis นักสำรวจทะเลลึกชาวแคนาดา ซึ่งเคยลงเรือดำน้ำขนาดจิ๋ว Mir ของรัสเซียมาแล้ว บอกว่า เขาเคยทำงานขุดน้ำมันในทะเลเหนือ และในอ่าวเมกซิโกมาแล้ว แต่การขุดในมหาสมุทร์อาร์คติคนั้น เป็นงานใหญ่เหนือจินตนาการ

นักสำรวจทะเลลึกชาวแคนาดาผู้นี้บอกว่า เพียงแค่คิดว่าจะขุดน้ำมันและแก๊สจากใต้ภูเขาน้ำแข็งที่ขั้วโลก ก็เป็นเรื่องเหลือเชื่อแล้ว และถ้าเกิดพลาดพลั้งน้ำมันรั่วไหลออกมา ความเสียหายต่อระบบนิเวศของมหาสมุทรอาร์คติคจะมหาศาลทีเดียว

ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินการก็จะสูงมากด้วย แต่ถ้าราคาน้ำมันและแก๊สธรรมชาติยังคงพุ่งสูงขึ้นอยู่ต่อไป นักวิเคราะห์บอกว่า ก็คงจะต้านทานความเย้ายวนใจที่จะขุดในบริเวณขั้วโลกเหนือกันไม่ได้อย่างแน่นอน

XS
SM
MD
LG