ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย กับการสร้างสะพานแม่น้ำโขง


ตามกำหนดนั้น การสร้างสะพานที่รัฐบาลจีนและไทยจะเป็นคนลงทุนสร้างนี้ จะเสร็จสมบูรณ์ในปี พศ. 2554 สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งนั้นเป็นช่วงสุดท้ายของระบบถนนเชื่อมภาคเหนือและใต้ ผ่านย่านลำน้ำโขง ที่ชาติในย่านดังกล่าวและธนาคารพัฒนาเอเชีย ดำเนินการพัฒนามาเป็นเวลากว่า 10 ปี

นายลอเรนซ์ กรีนวู้ด จูเนียร์ รองผู้อำนวยการใหญ่ของธนาคารพัฒนาเอเชียกล่าวว่า เมื่อการสร้างสะพานที่ทรงความสำคัญแห่งนี้เสร็จสมบูรณ์จะทำให้อยู่ในวิสัยที่จะเดินทางทางบกจากมณฑลยูนาน สาธารณรัฐประชาชนจีนผ่านประเทศลาว มายังประเทศไทย โดยตรงได้เป็นครั้งแรก ซึ่งจะทำให้เกิดวิสัยว่า จะช่วยเพิ่มพูนการค้าการท่องเที่ยว และการผนึกตัวของย่านลุ่มแม่น้ำโขงต่อไปอีก

รัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีน ลาว และไทย ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงลงนามในข้อตกลงเพื่อสร้างสะพานแห่งนั้น ตอนที่การประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 14 ยุติลง การประชุมครั้งสำคัญของเจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลของประเทศเหล่านั้น มีขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารพัฒนาเอเชียที่กรุงมะนิลาตั้งแต่วันที่ 19-21 เดือนมิถุนายน

ธนาคารพัฒนาเอเชียเป็นแกนนำในการสนับสนุนโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงมาตั้งแต่แรก คือเมื่อปี พศ. 2535 ตั้งแต่นั้นมาอาณาบริเวณดังกล่าวกลายเป็นบริเวณที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยอัตราการขยายตัวของผลผลิตมวลรวมเฉลี่ยแล้วอยู่ในระดับ 6 เปอร์เซนต์ในระยะไม่กี่ปีมานี้

ในบรรดางานชิ้นสำคัญๆ ของโครงการดังกล่าวในระยะไม่นานมานี้ ได้แก่การเปิดสะพานแม่น้ำโขงระหว่างประเทศแห่งที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว สะพานที่รัฐบาลญี่ปุ่นออกเงินสร้างให้แห่งนั้นเชื่อมจังหวัดมุกดาหาร กับจังหวัดสะหวันนะเขตของลาว และทำให้เขตฉนวนเศรษฐกิจตะวันออกตะวันตกสมบูรณ์ ฉนวนดังกล่าวยาว 1,500 กม. เพรียบพร้อมไปด้วยถนนอย่างดีซึ่งตัดผ่าน 4 ประเทศในหมู่ 6 ประเทศที่เป็นสมาชิกของกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง

งานชิ้นสำคัญอื่นๆ ของโครงการ รวมถึงการเริ่มงานสร้างทางรถไฟ 2 สายซึ่งเชื่อมเขตในเขมรและเวียตนาม โดยธนาคารพัฒนาเอเชียให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนการพัฒนาสายไฟฟ้าข้ามพรมแดน นอกจากนี้ข่ายงานทางหลวงสารสนเทศขั้นที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยใยแก้วนำแสง ซึ่งจะเป็นเสมือนกระดูกสันหลังของประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงก็จะเสร็จสมบูรณ์ และยังมีมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยขบแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมผ่านทางโครงการสิ่งแวดล้อมที่เป็นแก่นสำคัญนั้นอีกด้วย เวลาเดี่ยวกันกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงยังดำเนินงานอย่างประสบความสำเร็จในการเพิ่มพูนความเข้มแข็งของระบบตรวจการสอดส่อง และขีดความสามารถขององค์กรในการควบคุมการระบาดข้ามพรมแดนของโรคติดต่อต่างๆ รวมทั้งเอชไอวี และเอดส์ด้วย

XS
SM
MD
LG