ลิ้งค์เชื่อมต่อ

แพลงตัน ช่วยซึมซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้จริงหรือ?


กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างๆ ส่งเสริมการปลูกต้นไม้เพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในบรรยากาศของโลกมานานแล้ว ต้นไม้นั้นอาศัยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณเล็กน้อยในการมีชีวิตอยู่ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเห็นว่าการเพาะแพลงตัน ซึ่งเป็นสารอินทรีย์เล็กๆ ที่เป็นอาหารสัตว์ในมหาสมุทรขึ้นมาให้มากขึ้น จะช่วยซึมซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ลดปริมาณลงได้เช่นกัน

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า สารอาหารที่ใช้ในการกระตุ้นการเติบโตของแพลงตันนั้นคือธาตุเหล็ก ซึ่งธาตุเหล็กจะช่วยกระตุ้นการสังเคราะห์แสง แต่ตอนนี้ธาตุเหล็กในมหาสมุทรมีน้อย ขณะที่ละอองเหล็กปลิวลงไปบนพื้นผิวมหาสมุทรมีปริมาณลดลง 30% จากเมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งทำให้มีแพลงตันลดลงด้วย นักวิทยาศาสตร์ในโครงการแพลงโตสหวังว่าจะแก้แนวโน้มนี้ในการเสริมธาตุเหล็กในมหาสมุทร ในบริเวณหมู่เกาะกลาปาโกส และตามจุดอื่นๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกอีกหลายจุด

นักวิจัยศึกษาผลกระทบของธาตุเหล็กที่มีต่อระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศมานานกว่า 20 ปีแล้ว นักวิทยาศาสตร์ที่บริษัทแพลงตัน กำลังพัฒนาโครงการลดระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยอาศัยการศึกษาวิจัยเดิมเป็นพื้นฐาน และหวังจะได้ทุนจากบริษัทใหญ่ๆ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศมากๆ โดยถือเป็นการตอบแทนให้บริษัทแพลงโตสสำหรับการลดก๊าซดังกล่าว โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนกระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ในโรงงานตามมาตรการที่เรียกว่าขายเครดิตคาร์บอน ผลกำไรจากการขายนี้จะทำให้มีโอกาสช่องทางใหม่สำหรับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

ไมเคิล เบลี่ ผู้จัดการโครงการแพลงโตสกล่าวว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเครดิตคาร์บอน และอีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของแผนการตลาด หาทางทำรายได้จากการฟื้นฟูมหาสมุทร และบรรยากาศของโลกให้กลับดีขึ้น ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นรูปแบบธุรกิจที่สวยงาม อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญเห็นขัดแย้งในเรื่องก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่แพลงตันที่เพิ่มปริมาณขึ้นมาจะดูดซึมไว้ได้ และมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบในระยะยาวของการเสริมธาตุเหล็กในมหาสมุทรเพื่อเพาะเลี้ยงแพลงตัน

ศาสตราจารย์แฟรงค์ มิเรโร แห่งมหาวิทยาลัยไมอามี่ ซึ่งมีส่วนช่วยบุกเบิกเทคนิควิธีการนี้ในช่วงทศวรรษ 1990 กล่าวว่าหากจะมีปัญหาก็เห็นจะเป็นเรื่องที่ว่า หากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในพืชไม่จมลงไปลึก และเกิดการรวมตัวกับอกซิเจนขึ้นมา ผลที่ได้ก็จะไม่มากพออย่างที่คาดหวัง นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่าแพลงตันมีผลกระทบในทางที่ดีต่อสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น เพียงเมื่อสารที่มีคาร์บอนเป็นพื้นฐานจมลงในน้ำลึก และจมอยู่หลายศตวรรษ แต่สารเหล่านั้นบางอย่างมักจะยังคงอยู่ในระดับพื้นผิวน้ำ ซึ่งจะสลายตัวและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับสู่บรรยากาศ

และที่วิตกกันอีกอย่างหนึ่งคือ ยังไม่แน่ชัดว่าการเสริมธาตุเหล็กเพื่อเลี้ยงแพลงตัน จะทำให้แพลงตันเติบโตขยายตัวออกไปมากกว่าที่เกิดโดยธรรมชาติหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญอาจเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับวิธีที่จะต่อสู้กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็เห็นพ้องกันว่าการลดการปล่อยก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอ และเห็นว่าโลกจำเป็นจะต้องหาเทคนิควิธีการมาแก้กลับการปล่อยก๊าซแบบนี้ที่ดำเนินมาหลายสิบปี และการดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากบรรยากาศของโลก

XS
SM
MD
LG