ลิ้งค์เชื่อมต่อ

แผนการรับมือกับโรคเขตร้อน ขององค์การอนามัยโลก


เมื่อเร็วๆนี้ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุมที่สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลกเพื่อจัดทำแผนการรับมือกับโรคเขตร้อนที่มักจะถูกมองข้ามซึ่งมีอยู่มากมายหลายชนิด โรคดังกล่าวส่งผลให้มีผู้ป่วยมากกว่า 1 ใน 6 ของประชากรโลก

โรคเขตร้อนที่มักจะถูกมองข้ามนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อปรสิตซึ่งเติบโตได้ดีภายใต้สภาพแวดล้อมที่ยากจนกันดาร การสุขอนามัยไม่ดี น้ำดื่มน้ำใช้ไม่สะอาด และบ้านเรือนสกปรก ตัวอย่างของโรคเขตร้อนที่มักจะถูกมองข้ามได้แก่ โรคเรื้อน โรคกีนี วอร์ม โรคพยาธิใบไม้โลหิตและโรคตาบอดแถบแม่น้ำ โรคเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากผิดปกติและพิการอย่างถาวร ซึ่งก็ยิ่งทำให้คนเหล่านั้นยากจนลงไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรในอาฟริกา

หลักการของแผนรับมือโรคดังกล่าวคือการป้องกันหรือรักษาโรคเขตร้อนทั้ง 14 ประเภทในคราวเดียวกันโดยไม่แยกตามโรค คุณ Lorenzo Savioli ผู้อำนวยการแผนกโรคเขตร้อนที่ถูกมองข้ามขององค์การอนามัยโลกกล่าวว่า การจัดการกับโรคเหล่านั้นเป็นกลุ่มจะทำให้ผู้รับผิดชอบด้านสาธารณสุขของประเทศต่างๆหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น

คุณ Lorenzo Savioli บอกว่า หลังจากทำการศึกษามาอย่างยาวนาน ผู้เชี่ยวชาญพบว่าการรวมโรคต่างๆเข้าเป็นกลุ่มเดียวกันนั้น จะทำให้ผู้รับผิดชอบที่เคยรู้สึกว่าตนดูแลเพียงโรคใดโรคหนึ่ง เปลี่ยนความคิดไปเป็นว่าตนจะต้องรับผิดชอบโรคเขตร้อนที่ถูกมองข้ามทั้งกลุ่มทุกโรค ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างยิ่ง

ที่ผ่านมา แผนต่อสู้กับโรคเขตร้อนบางชนิดประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น รายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ผู้ป่วยโรคริดสีดวงตามีจำนวนลดลงมากจาก 360 ล้านคนเมื่อปี ค.ศ.1985 เหลือเพียง 80 ล้านคนในปัจจุบัน ในขณะที่ผู้ป่วยโรคเรื้อนลดลงจาก 5 ล้าน 2 แสนราย เหลือเพียงไม่ถึง 220,000 ราย และโรคกีนี วอร์มที่ปัจจุบันมีผู้ป่วยประมาณ 25,000 คน ก็คาดว่าจะถูกกำจัดจนหมดสิ้นในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตาม คุณ Lorenzo Savioli จากองค์การอนามัยโลกบอกว่า โรคที่ใกล้จะถูกกำจัดหรือกำลังจะสาบสูญไปมักจะถูกคนละเลยมองข้าม จนทำให้โรคนั้นกลับมาใหม่ ดังนั้น การนำโรคหลายโรคที่ว่ามารวมเป็นกลุ่ม จะทำให้โรคเหล่านั้นไม่ถูกลืมไปง่ายๆ

ศาสตราจารย์ David Molyneux แห่งสถาบันการแพทย์เขตร้อนเมืองลิเวอร์พูล กล่าวว่า โรคเขตร้อนที่ถูกมองข้ามส่วนใหญ่สามารถกำจัดให้หมดสิ้นได้ด้วยยาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ และว่าความยากจนไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป เนื่องจากในขณะนี้บริษัทยาต่างๆจัดหายามาให้ในราคาถูกหรืออาจไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย

ศาสตราจารย์ David Molyneux ยกตัวอย่างยาที่ประเทศ Burkina Faso ซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 6 เซนต์ต่อปีหรือประมาณ 2 บาท และที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ป่วยแต่ละคนต้องจ่ายค่ายาถ่ายพยาธิเพียง 1-2 เซนต์หรือประมาณ 35-70 สตางค์ต่อปีเท่านั้น ศาสตราจารย์ผู้นี้ยืนยันว่าไม่มีอะไรจะถูกไปกว่านี้อีกแล้ว

ในการประชุมที่สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลกครั้งนี้ มีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมมากมาย รวมทั้งประธานาธิบดี Burkina Faso และรองประธานาธิบดีแทนซาเนียด้วย ทั้งสองกระตุ้นให้ประเทศต่างๆช่วยคิดหายุทธวิธีกำจัดโรคเขตร้อนที่ถูกมองข้ามทั้งหลายให้หมดสิ้นไปจากโลก

XS
SM
MD
LG