ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ท้องฟ้าในคืนฟ้ามืด มีอะไรดีๆ ให้ดูกันบ้าง?


ในแต่ละเดือนเราจะมีข้างขึ้น หรือเมื่อเรามองเห็นดวงจันทร์กันราวๆ 15 วัน และอีก 15 วันเป็นข้างแรม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เราไม่เห็นดวงจันทร์ เวลากลางคืนมืดมากๆ มองเห็นแต่ดวงดาว เรื่องนี้ยังเป็นจริงสำหรับบริเวณชนบทเท่านั้น คนที่อยู่ในเมือง โอกาสที่จะได้เห็นท้องฟ้าและดวงดาวนั้น ไม่ว่าจะเป็นข้างขึ้น หรือข้างแรมแทบจะไม่มีความแตกต่างกัน นอกจากจะเห็นดวงจันทร์บ้างเท่านั้น

แต่ปัญหาสำหรับคนในเมือง ไม่ได้มีเฉพาะการมองไม่เห็นดวงดาวเท่านั้น มลภาวะทางแสงนี้ยังส่งผลกระทบในด้านอื่นๆด้วย คุณเดนนิส อีริคสันเป็นครูสอนโรงเรียนมัธยมในนครชิคาโก และส่งเสริมให้นักเรียนออกมาส่องกล้องดูดาวในตอนกลางคืน

คุณครูเดนนิสบอกว่า ถ้าจะให้ได้ความรู้สึกตื่นตาตื่นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาได้เห็นทางช้างเผือก ที่จะกระตุกจินตนาการของเราว่า มีอะไรอยู่ในห้วงอวกาศข้างนอกละก็ ต้องออกไปอยู่ในชนบท ถ้าอยู่ในเมือง ไม่มีโอกาสอย่างนั้นแน่ๆ

มลภาวะทางแสงนี้ไม่ได้ทำให้นักดาราศาสตร์สมัครเล่นที่อยู่ในเมืองสูญเสียโอกาสที่จะได้ดูดาวเท่านั้น แต่ยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของนักดาราศาสตร์จริงๆอีกด้วย คุณเดฟ ครอเฟิร์ด นักดาราศาสตร์ผู้หนึ่งบอกว่า มลภาวะทางแสงที่มีเพิ่มขึ้น ยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของหอดูดาวใหญ่ๆของโลกด้วย เพราะแม้จะสร้างหอดูดาวเหล่านี้ไว้ในที่ห่างไกล ไม่ว่าจะเป็นในภาคกลางของประเทศชิลี หรือเกาะฮาวาย เวลานี้ ถูกแสงไฟฟ้าจากบ้านเรือนที่ปลูกสร้างขึ้น เพราะผู้คนโยกย้ายขยายตัวเมืองกันออกไปเรื่อยๆรบกวน นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้บอกว่า ผลเสียที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งจากการที่ไม่มีคืนเดือนมืดจริงๆ คือการขัดจังหวะของพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตในรอบ 24 ชั่วโมง หรือที่เรียกว่า Circadian Rhythm

คุณเดฟ นักดาราศาสตร์ บอกว่า ไม่ว่าจะเป็นเต่าทะเล นก หรือต้นไม้ หรือพืช ก็ตาม งานวิจัยเมื่อเร็วๆนี้ระบุว่า การขัดจังหวะวัฏจักรกลางวันและกลางคืนนั้น ส่งผลกระทบถึงทั้งนั้น รวมทั้งสุขภาพมนุษย์เราด้วย ผู้ที่เคยเดินทางไปต่างประเทศ นึกถึงอาการที่เราเรียกว่า Jet Lag ก็ได้ คือเมื่อถึงเวลานอน เรากลับไม่ง่วง อย่างนี้เป็นต้น

คุณเดฟ ครอเฟิร์ด บอกว่า มลภาวะทางแสงที่เห็นนั้น ส่วนใหญ่มาจากการออกแบบโคมไฟฟ้า โดยเฉพาะโคมไฟตามถนนไม่ดี ที่ไม่บังคับแสงไฟให้ส่องลงพื้น แต่กลับส่องสว่างไปถูกฝุ่นละอองและโมเลกุลน้ำในบรรยากาศ ทำให้เกิดแสงสว่างเรืองเหนือตัวเมืองไปทั่ว นอกจากนี้ยังเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานกำเนิดไฟฟ้าด้วย

คุณเจนนิเฟอร์ บาร์โลว์ นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ซึ่งรณรงค์มาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยม ที่จะให้ผู้คนดับไฟฟ้าในเวลากลางคืน เพื่อจะได้ดูท้องฟ้าโโยไม่มีมลภาวะทางแสงรบกวนบอกว่า ที่สำคัญที่สุด คือต้องช่วยกันดับไฟ เพราะถ้าทุกคนไม่ให้ความร่วมมือ ก็จะไม่สำเร็จ และขอให้ช่วยบอกกันต่อๆไปด้วย

คุณเจนนิเฟอร์ ซึ่งรณรงค์เรื่องนี้มาจนกระทั่งมีการกำหนดสัปดาห์ฟ้ามืดแห่งชาติ หรือ National Dark Sky Week ขึ้นมา บอกไว้ด้วยว่า เมื่อดับไฟแล้ว ก็ให้ออกไปดูข้างนอกว่า ท้องฟ้ามืดๆนั้น มีอะไรดีๆให้ดูกันบ้าง

ผู้ที่สนใจอยากดูภาพโลกตอนฟ้ามืดจากดาวเทียม เข้าไปที่ เว็บไซท์ของ VOA แล้วเลือก VOA English จากนั้น คลิกที่ Health & Science ในคอลัมน์ซ้ายมือ และเลือกเรื่อง Dark Sky Week ถ้าอยากดูมากกว่านั้น ไปที่

http://www.ndsw.org/

http://www.sidewalk-astronomy-club.com/chicago

http://www-static.cc.gatech.edu/~pesti/night/

XS
SM
MD
LG