ลิ้งค์เชื่อมต่อ

บทความของ Thomas Fuller เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของบริษัทผู้ผลิตยาต้านเอดส์


บริษัท Abbott Laboratories ผู้ผลิตยารายใหญ่รายหนึ่งของโลก ประกาศว่าจะลดราคายาต้านเอดส์ Kaletra ลงราวๆ 55 เปอร์เซนต์ ให้กับประเทศต่างๆ มากกว่า 40 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย

อะไรเป็นสาเหตุของการตัดสินใจของผู้ผลิตยารายนี้ ซึ่งเมื่อต้นปีปฏิเสธที่จะขายยาต้านเอดส์รุ่นใหม่ในประเทศไทย บทความของ Thomas Fuller ในหนังสือพิมพ์ International Herald Tribune วิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของ Abbott Lab และผู้ผลิตยารายอื่นๆ

Abbott Laboratories ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่าจะลดราคายาต้านเอดส์ Kaletra จากปีละ 2,200 ดอลล่าห์ ลงมาเหลือ 1,000 ดอลล่าห์ต่อปี กว่า 40 ประเทศที่จะได้ยาราคาถูกนี้เป็นประเทศที่มีรายได้ประชาชาติในระดับต่ำ หรือระดับกลางค่อนข้างต่ำ ตามเกณฑ์วัดของธนาคารโลก และประเทศไทยรวมอยู่ในประเทศเหล่านี้ด้วย

นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า ความเคลื่อนไหวของผู้ผลิตยาต้านเอดส์ Kaletra ซึ่งใช้ได้ผลโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่มีเชื้อไวรัสเอชไอวีที่ดื้อยาขนานอื่นๆ เป็นความพยายามที่จะบรรเทาคำวิพากษ์ตำหนิเรื่องราคายารวมทั้งกรณีพิพาทกับประเทศไทยในเรื่องนี้

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยประกาศว่า อาจจะใช้สิทธิ์ตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่อนุญาติให้ประเทศสมาชิกละเมิดสิทธิบัตรยาได้ และจะผลิตยาขนานนั้นเอง หรือจะนำเข้ายาขนานเดียวกันที่ไม่มีชื่อทางการค้า

ปฏิกิริยาจากบรรดาผู้ผลิตยานั้นเต็มไปด้วยความขุ่นเคือง บทความของ Thomas Fuller กล่าวว่า Abbott ไปไกลกว่าบริษัทอื่นๆ ด้วยการถอนผลิตภัณฑ์ยาใหม่ๆ ของตนออกจากประเทศไทยทั้งหมด ยาเหล่านั้นเป็นยาสำหรับบำบัดอาการโรคไขข้ออักเสบ โรคไต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และอลูเวีย ซึ่งก็คือยาต้านเอดส์ Kaletra ขนานใหม่ที่เหมาะกับการใช้ในประเทศที่มีอากาศร้อนเพราะไม่ต้องเก็บในตู้เย็น

โฆษกสตรีของ Abbott กล่าวว่าในการลดราคายาครั้งนี้ ทางบริษัทหวังที่จะยุติความขัดแย้งเรื่องราคายา และหันมามีการโต้อภิปรายที่เป็นการสร้างสรรค์ และมีการไตร่ตรองเกี่ยวกับประเด้นที่แท้จริง คือทำอย่างไรที่จะมียาที่ราคาไม่แพงมาให้ใช้กันมากขึ้น พร้อมๆ กับการรักษาระบบที่ช่วยทำให้มีการคิดค้นยาขนานใหม่ๆ ออกมาได้

แต่ตามความเห็นของผู้เขียนบทความดูเหมือนว่า กลยุทธ์ของประเทศไทยอาจจะได้ผล เพราะก่อนที่ Abbott จะประกาศลดราคายาออกมาครั้งนี้ โนวาทิส ผู้ผลิตยารายใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ เสนอที่จะลดราคายากลีเว็กซ์ สำหรับโรคมะเร็งในเม็ดโลหิตลง 75 เปอร์เซนต์ หลังจากที่ทางการไทยกล่าวว่ากำลังพิจารณาการใช้สิทธิ์ตามกฏที่เรียกว่า Compulsory Licensing ของยาขนานนี้ ลาเมิร์ค ผู้ผลิตยารายใหญ่ของสหรัฐอีกรายหนึ่ง เสนอที่จะลดราคายาต้านเอดส์ เอฟเฟอวิเรนซ์ลง เมื่อรัฐบาลไทยประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ว่าจะใช้สิทธิ์ตาม Compulsory Licensing ของยาขนานนี้ด้วย

บทความของ Thomas Fuller กล่าวว่ากรณีของประเทศไทยต่างไปจากประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมทั้งบราซิล อินโดนีเซีย และมาเลเซียที่ได้ใช้สิทธิ์หรือขู่ว่าจะใช้สิทธิ์ดังกล่าว ตรงที่รัฐบาลไทยมุ่งเป้าไปที่ยาหลายขนานกว้างขวางกว่าที่ประเทศอื่นๆ ตั้งเป้าไว้

XS
SM
MD
LG