ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การรับประทานปลามากๆระหว่างตั้งครรภ์ช่วยให้ลูกฉลาดขึ้นจริงหรือ?


รายงานการวิจัยใหม่พบว่า เด็กๆที่เกิดจากผู้หญิงที่รับประทานปลาเพียงเล็กน้อยระหว่างตั้งครรภ์ มักจะเฉลียวฉลาดไม่เท่าและมีปัญหาทางด้านพฤติกรรมมากกว่าเด็ก ๆ ที่แม่รับประทานปลามากระหว่างตั้งครรภ์ ผลการศึกษาวิจัยนี้ ขัดแย้งกับคำแนะนำของหน่วยงานด้านอาหารและสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลสหรัฐ ที่เตือนให้ผู้หญิงมีครรภ์จำกัดการรับประทานปลาหรืออาหารทะเล เพื่อหลีกเลี่ยงสารปรอทที่เปื้อนปนอยู่

เมื่อปี ๒๕๔๗ องค์การอาหารและยา และองค์การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐออกคำเตือนและเสนอแนะว่า สตรีมีครรภ์และที่กำลังเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตนเองไม่ควรรับประทานปลาและอาหารทะเลมากเกินสัปดาห์ละ ๓๔๐ กรัม หรือราวสัปดาห์ละ ๓ มื้อ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสารปรอทที่สะสมเปื้อนปนอยู่ในปลาทะเลทั่วโลก สารปรอทนั้นทำให้เกิดปัญหาด้านระบบประสาทได้ การวิจัยของมหาวิทยาลัย Harvard ที่ศึกษาข้อมูลด้านการรับประทานอาหารและเกี่ยวกับลูกๆของผู้หญิงในหมู่เกาะ Faroe ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติกในปีนั้น พบว่าลูกๆของผู้หญิงผู้ซึ่งรับประทานปลามากๆระหว่างตั้งครรภ์ มีการทำงานในบางส่วนของสมองเสียหายอย่างแก้ไม่ได้ จึงมีการออกคำเตือนให้หญิงมีครรภ์และผู้กำลังเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหลีกเลี่ยงปลาและอาหารทะเล

อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยครั้งใหม่เมื่อไม่นานมานี้ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐ ซึ่งก็เป็นหน่วยงานของรัฐบาลเช่นกัน กลับพบว่าเด็กๆที่เกิดจากแม่ผู้รับประทานปลาสัปดาห์ละไม่ถึง ๓๔๐ กรัมหรือราวสัปดาห์ละ ๓ มื้อ ระหว่างตั้งครรภ์ มีพัฒนาการทางสมองด้อยกว่าเด็กที่เกิดจากแม่ที่รับประทานปลาสัปดาห์ละมากกว่า ๓๔๐ กรัมขึ้นไป นักจิตวิทยาและชีววิทยาของสถาบันสุขภาพแห่งชาติหรือ NIH ที่กรุงวอชิงตัน ประเมินผลดังกล่าวจากการศึกษาของอังกฤษ ที่ติดตามสังเกตการณ์การรับประทานอาหารของหญิงมีครรภ์ ๑๔,๐๐๐ คน และพัฒนาการทางสมองและพฤติกรรมของเด็กที่เกิดจากผู้หญิงเหล่านั้นราว ๑๓,๐๐๐ คน

นักวิจัยรู้สึกแปลกใจเมื่อพบว่า เด็กๆที่เกิดจากแม่ที่รับประทานปลามาก มี IQ สูงกว่าเด็กๆที่เกิดจากแม่ที่รับประทานปลาน้อยกว่าสัปดาห์ละ ๓๔๐ กรัม นอกจากนั้น เด็กเหล่านั้นยังมีปัญหาด้านพฤติกรรมและสังคมตลอดจนการสื่อความเข้าใจน้อยกว่าด้วย Joseph Hibbeln นักจิตวิทยาและชีววิทยาแห่งสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐกล่าวว่า การหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทะเลระหว่างตั้งครรภ์ ก็เท่ากับหลีกเลี่ยงแหล่งสารอาหารที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับพัฒนาการทางสมองของเด็กทารกและก่อให้เกิดปัญหาการขาดสารอาหาร นอกจากจะรับประทานอาหารเสริม ตามรายงานของ Joseph Hibbeln ที่ลงในวารสารการแพทย์ Lancet นั้น สารอาหารสำคัญที่มีอยู่ในปลาทะเลคือ กรดไขมัน Omega – 3 ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาของสมอง Joseph Hibbeln กล่าวว่าการค้นพบนี้แสดงนัยยะตรงกันข้ามกับคำเตือนและข้อเสนอแนะขององค์การอาหารและยา และองค์การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

ผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่งที่ทำงานวิจัยเรื่องนี้ คือกุมารแพทย์ Gary Myers ผู้เชี่ยวชาญด้าประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Rochester รัฐ New York เขาศึกษาการรับประทานอาหารของหญิงมีครรภ์ที่หมู่เกาะ Seychelles ในมหาสมุทรอินเดีย และพบว่าลูกของผู้หญิงที่รับประทานปลามากระหว่างมีครรภ์มีการทำงานของระบบประสาทดีกว่าลูกของผู้หญิงที่รับประทานปลาน้อย ผู้หญิงเหล่านั้นส่วนใหญ่รับประทานปลาสัปดาห์ละ ๑๒ มื้อ และมีสารปรอทในร่างกายมากกว่าผู้หญิงอเมริกันราว ๑๐ เท่า แต่เขาไม่พบความเกี่ยวโยงระหว่างสารปรอทกับการรับรู้เข้าใจของเด็กๆลูกๆของผู้หญิงเหล่านั้น นายแพทย์ Gary Myers คิดว่าน้ำมันในปลาอาจช่วยป้องกันร่างกายจากความเป็นพิษของสารปรอท และเขากำลังศึกษาวิจัยเพื่อพิสูจน์ข้อคิดนี้ เขาแสดงความเห็นในบทความที่ลงในวารสารการแพทย์ Lancet ฉบับเดียวกันนี้ว่า เราไม่ควรมองการพัฒนาและสุขภาพของเด็กจากแง่มุมเดียว แต่ควรมองภาพรวม และว่าเมื่อเราพยายามป้องกันเด็กจากความเสี่ยงอย่างหนึ่ง เราอาจไปก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีในอีกอย่างหนึ่งได้

ทั้งนี้ ผลการศึกษาวิจัยใหม่นี้อาจทำให้หน่วยของรัฐบาลต้องพิจารณาทบทวนกันใหม่เกี่ยวความเสี่ยงอันตรายและคุณประโยชน์ของการรับประทานปลาและอาหารทะเล

XS
SM
MD
LG