คนไทยในอเมริกา รวมตัวกันตั้งคณะรำไทยที่ชื่อ Somapa Thai Dance Company เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้คนต่างชาติได้รู้จักและเข้าใจวัฒนธรรมไทยมากขึ้น
คุณสุธีรา นาควัชระ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งคณะรำไทยที่ชื่อโสมภา ซึ่งแปลว่า ผู้ซึ่งดื่มน้ำโสมแล้วเกิดความอิ่มเอมใจ เหมือนกับผู้ที่มาเรียนรู้วัฒนธรรมไทยแล้วเข้าใจ สามารถรับรู้ถึงคุณค่าของวัฒนธรรมไทย การที่เลือกใช้ชื่อนี้ คุณสุธีราบอกว่าเพราะมีความหมายและคนต่างชาติสามารถออกเสียงได้ง่าย
นอกจากนี้ คุณสุธีราเล่าว่า ที่มาของการตั้งคณะรำไทย เกิดจากการรวมตัวของคนที่รักและสนใจวัฒนธรรมไทย ซึ่งแต่ละคนมีประสบการณ์การรำมานานกว่า 25 ปี โดยเริ่มเรียนนาฏศิลป์รำไทยจากหม่อมราชวงศ์วรฉัตร ซองทองโรงเรียนราชทัศน์นาฏศิลป์ คุณแม่จำเรียง พุธประดับ ศิลปินแห่งชาติและอาจารย์คมคาย กลิ่นภักดี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของคณะรำไทยช่วยสนับสนุน จัดเตรียมเสื้อผ้าและเครื่องประดับในการแสดงชุดใหญ่
คุณสุธีรา นาควัชระ บอกว่าเริ่มมารวมตัวกันเมื่อปี 1999 (พ.ศ.2542) มาพบกันที่วัดไทย หลังจากที่วัดไทยไม่ได้มีการสอนรำไทยมาประมาณ 5 ปี ปี 1999 มีการเรียกรวมตัวนักเรียนเก่ามารวมตัวกัน ก็มีเมธินีซึ่งรำมาตั้งแต่ 4 ขวบที่วัดไทย ส่วนคุณสุธีราและคุณกชกรเป็นเพื่อนตั้งแต่เด็กก็รำมาจากเมืองไทย (เป็นเพื่อนกันมา 8-9 ขวบ) ที่ราชทัศน์นาฏศิลป์ และคุณบุศบาเป็นนักเรียนเก่า ทุกคนเริ่มมารวมตัวกัน มาช่วยสอนเด็กๆ ที่วัดไทยตั้งแต่ปี 1999 จากนั้นก็มีงานข้างนอกเข้ามา เริ่มมีงานข้างนอกมากขึ้นก็เลยคิดตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมา
คุณสุธีรา นาควัชระ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากรวมกลุ่มตั้งเป็นคณะรำไทยโสมภาแล้ว เปิดสอนรำไทยที่บ้านของเธอโดยไม่คิดค่าจ่าย นอกจากนี้ ยังรับงานข้างนอกโดยไปแสดงนาฏศิลปไทยทั้งในกรุงวอชิงตันและต่างรัฐ ซึ่งได้รับความสนใจและเสียงชื่นชมจากคนไทยในอเมริกาและคนอเมริกันอย่างมาก การแสดงตามงานต่างๆ จะคิดค่าใช้จ่าย เงินที่ได้จะนำมาเป็นค่าตอบแทนแก่สมาชิกที่ไปรำ และค่าใช้จ่ายส่วนรวมของกลุ่ม เช่น เครื่องกายและเครื่องประดับ
คุณสุธีราเล่าว่าเคยไปรำที่ เคนนาดี้ เซนเตอร์ ในดีซี เป็นการรำชุดใหญ่ การแต่งกายค่อนข้างลำบาก เพราะมีคนไม่กี่คนจึงต้องช่วยกันแต่งตัว การแต่งตัวชุดละครไทย ต้องเย็บเข้ากับตัวของนางรำกว่าจะหาคนที่มาช่วยแต่งตัวให้ได้นี้ยากมาก เพราะต้องการคนที่มีความรู้ คนแต่งตัวเป็นนี้มี แค่ 2-3 คนเท่านั้น ทุกอย่างก็ออกมาสวยงาม คนที่มาชมเป็นคนสนใจศิลปะอยู่แล้ว เขาจะชื่นชมการรำของเรามาก รำไทย โฟร์กแดนซ์ ฟ้อน เซิ้ง จากภูมิภาค ก็จะมีคนเข้ามาหาและบอกว่ามือเธออ่อนมาก ใช้เวลานานแค่ไหนที่เรียนรำไทย รับสอนมั้ย บางทีมีคนสนใจมาเรียน มีคนมาดูและสนใจมาติดต่อไปแสดงที่อื่นต่อ เป็นรูปแบบของการรับงานเหมือนการประชาสัมพันธ์ด้วย
ส่วนคุณเมธินี เปรมรัตน์ คนไทย-อเมริกันอายุ 28 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งคณะรำไทยโสมภา และครูอาสาสมัครสอนรำไทยที่วัดไทย กรุงวอชิงตัน กล่าวว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่รู้จักแค่อาหารไทย ไม่เคยเห็นการแสดงนาฏศิลป์ไทย และบางคนไม่รู้ว่ามีประเทศไทย เพราะคิดว่าคนไทยคือคนไต้หวันหรือคนจีน คุณเมทินีบอกว่า รู้สึกภูมิใจที่ช่วยเด็กๆให้รู้ว่าวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างไร
ปัจจุบันสมาชิกหลักที่ร่วมก่อตั้งคณะรำไทยโสมภาจำนวน 4 คน ยังคงร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทยในอเมริกาโดยการเปิดสอนรำไทย และแสดงนาฏศิลป์ไทย รวมทั้งยังเป็นครูอาสาสมัครสอนรำไทยแก่เด็กไทย และไทย-อเมริกันทุกวันเสาร์ ที่วัดไทยกรุงวอชิงตันโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย การเรียนการสอนรำไทยจะเน้นความรู้ความเข้าใจพื้นฐานนาฏศิลป์ไทยที่ถูกต้องและความอ่อนช้อยงดงามในการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การจีบ การรำ ก่อนเรียนรำไทยทุกครั้งจะมีการเตรียมความพร้อมของร่างกายก่อน คือการดัดมือ แขน ขา และทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งคล้ายกับการออกกำลังกายไปในตัว ต่อจากนั้นทุกคนจะเริ่มเรียนและรำแม่บท ต่อด้วยการแบ่งกลุ่มเรียนรำตามความสนใจ เช่น รำสีนวล รำเทพบันเทิง เซิ้ง เป็นต้น เด็กที่มาเรียนมีประมาณ 20 คน อายุตั้งแต่ 6 ขวบไปจนถึงวัยรุ่น ซึ่งได้รับความสนใจจากคนไทยในอเมริกาและคนอเมริกันที่สนใจเรียนรำไทยเป็นอย่างมาก