ผู้นำเอเชียหลายคนมองเห็นว่า ถ้าประเทศในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนรวมตัวกันแบบสหภาพยุโรป ก็จะช่วยให้เกิดความก้าวหน้าได้มาก แต่ในขณะที่กำลังมีการดำเนินการในเรื่องนี้ ผู้เชี่ยวชาญต่างพากันสงสัยว่าสมาคมอาเซียนจะดำเนินการในลักษณะเดียวกับสหภาพยุโรปในเร็วๆนี้ได้จริงหรือ?
หลังจากที่สมาคมอาเซียนก่อตั้งมา 40 ปีแล้ว มีการยอมรับกันมากยิ่งขึ้นว่าถ้าสมาคมอาเซียนต้องการจะผงาดอย่างเต็มภาคภูมิ ก็จำเป็นต้องปรับปรุงตัวเอง หลายคนเชื่อว่าวิธีที่จะทำให้สมาคมอาเซียนก้าวหน้า คือผลักดันให้มีการรวมตัวในลักษณะเดียวกับสหภาพยุโรป ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ บรรดาผู้นำของ 10 ชาติภาคีตกลงให้ตั้งเขตการค้าเสรีภายในปี พ.ศ. 2558 และอนุมัติแผนเกี่ยวกับกฎบัตรฉบับแรกของสมาคมอาเซียน ซึ่งจะทำให้สมาคมเป็นองค์การที่ถูกกฎหมายมากขึ้น และยินยอมให้สมาคมอาเซียนลงโทษสมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของสมาคมได้
ในปัจจุบัน มติต่างๆของสมาคมอาเซียนไม่มีผลผูกพันใดๆ คุณมาซาฮิโร่ คาวาอิ แห่งธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียมองเห็นว่า การที่สถานภาพภาคีต่างๆของสมาคมอาเซียนแตกต่างกันอย่างมหาศาล ซึ่งผิดกับของสหภาพยุโรป จะทำให้สมาคมอาเซียนรวมตัวกันเป็นกลุ่มโดยสมบูรณ์ได้ยาก
คุณมาซาฮิโร่ คาวาอิ กล่าวว่าช่องว่างด้านการพัฒนาในหมู่ภาคีสมาคมอาเซียนนั้นใหญ่โตมาก อย่างเช่น กรณีลาวกับสิงคโปร์ หรือระหว่างสิงคโปร์กับกัมพูชา ซึ่งมีความแตกต่างมหาศาลไม่ว่าจะในด้านรายได้ สถาบันและระบอบการเมือง ในขณะที่ทางยุโรปนั้น บรรดาประเทศที่เป็นแกนนำสำคัญมีลักษณะพื้นฐานต่างๆคล้ายคลึงกันมากทีเดียว ในขณะที่ผลผลิตมวลรวมของสิงคโปร์อันเป็นประเทศที่ร่ำรวยยิ่งแห่งหนึ่งของโลกนั้น เฉลี่ยแล้วตกประมาณ 2 หมื่น 6 พันเหรียญสหรัฐต่อหัวเมื่อปีที่แล้ว แต่ประเทศสมาชิกที่ยากจนที่สุดของสมาคมอาเซียนคือพม่านั้น เฉลี่ยแล้วไม่ถึง 200 เหรียญสหรัฐต่อหัว ในขณะที่ลาวและกัมพูชาก็ไม่ดีกว่าพม่าเท่าใดนัก
คุณมัลคอล์ม ดุ๊ก ผู้อำนวยการโครงการสถาบันโลวี่ในนครซิดนีย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศมองเห็นว่า การที่เศรษฐกิจของประเทศในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่นับสิงคโปร์ ต่างก็เป็นเศรษฐกิจที่แข่งขันกัน ไม่ใช่สนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งผิดกับของสหภาพยุโรป ดังนั้น เมื่อภาคีสมาคมอาเซียนไม่ทำการค้าระหว่างกัน และยังแข่งขันกันในตลาดโลก การรวมตัวเป็นกลุ่มจึงมีประโยชน์น้อยลงและสามารถบรรลุผลได้ยาก นอกจากนี้ การรวมตัวทางการเมืองก็อาจมีปัญหาเช่นกัน เพราะระบอบการปกครองแตกต่างกันมากมาย ตั้งแต่ระบอบประชาธิปไตยแบบพรรคการเมืองอย่างเช่น อินโดนีเซีย จนถึงเวียดนามและลาวซึ่งปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ตลอดจนความแตกต่างด้านสิทธิมนุษยชน
ตามประเพณีนั้น ภาคีสมาคมอาเซียนยึดหลักไม่ก้าวก่ายกิจการของกันและกัน ทำให้สมาคมอาเซียนถูกกล่าวหาว่าไม่มีจุดยินที่แข็งแกร่งพอในการต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพม่า อย่างไรก็ตาม ระยะหลังๆภาคีสมาคมอาเซียนเริ่มออกมาโวยวายต่อต้านเรื่องดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ