ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนอเมริกันเกี่ยวกับประธานาธิบดีบุชและสงครามอิรัก


ผลการสำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกันล่าสุด ระบุว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายอิรักของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และต้องการให้สงครามอิรักยุติลงโดยเร็ว

ผลการสำรวจความคิดเห็นในหมู่ชาวอเมริกัน ซึ่งดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตันในกรุงวอชิงตัน และผลการสำรวจความคิดเห็นในหมู่ชาวอเมริกันครั้งหลังสุดซึ่งดำเนินการโดยหนังสือพิมพ์ USA Today ร่วมกับสำนักสำรวจประชามติแกลลอฟ ต่างบ่งชี้ว่า ชาวอเมริกันร้อยละ 64 และร้อยละ 70 ไม่เห็นด้วยกับการจัดการในเรื่องอิรักของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และเชื่อว่าอเมริกากำลังเดินไปผิดทิศทาง

คุณเซวินด้า เล็ค ผู้สำรวจความคิดเห็นประชาชนจากพรรคเดโมแครตกล่าวว่า ขณะนี้อิรักเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง ซึ่งกระตุ้นให้ความรู้สึกที่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน และชาวอเมริกันกำลังต้องการอย่างมากมายที่จะให้มีการเปลี่ยนทิศทางและแนวทางในอิรัก แต่ยังระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องวิธีการที่จะทำเช่นนั้นมากเสียจนน่าประหลาดใจ

ตามความเป็นจริงนั้น การสำรวจความคิดเห็นที่เรียกว่า Battleground Poll พบว่าชาวอเมริกันที่สนับสนุนเรื่องที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช จะส่งทหารไปเสริมกำลังในอิรักนั้นมีแค่ 21% อีก 32% ต้องการให้คงทหารอเมริกันไว้ที่ระดับปัจจุบัน จนกว่าอิรักจะมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ ราวๆ 28% ต้องการให้ทหารอเมริกันออกจากอิรักภายใน 1 ปี และอีก 16% อยากให้ถอนทหารอเมริกันออกจากอิรักโดยทันที

ขณะนี้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กำลังเตรียมคำแถลงแสดงสภาวะของสหรัฐประจำปี ซึ่งจะกล่าวต่อรัฐสภาและชาวอเมริกันทั้งประเทศในวันอังคารนี้ ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชจะพยายามจูงใจประชาชนให้หันมาสนับสนุนยุทธศาสตร์ใหม่เกี่ยวกับอิรัก ในขณะเดียวกัน วุฒิสมาชิกอเมริกันพรรคเดโมแครตจากรัฐ Delaware นายโจเซฟ ไบเด้น ผู้เตรียมตัวจะลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีในปีหน้า กล่าวว่าประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชและสมาชิกรัฐสภาควรหวนระลึกถึงประสบการณ์สงครามเวียตนามที่สร้างความแตกแยก วุฒิสมาชิกโจเซฟ ไบเด้น กล่าวว่าไม่มีนโยบายต่างประเทศใดๆที่จะยืนยงคงอยู่ได้ต่อไปโดยที่ชาวอเมริกันผู้รู้เรื่องราวให้ความยินยอม

สมาชิกรัฐสภาของพรรคเดโมแครตบางส่วนต้องการกดดันให้ตัดงบสนับสนุนการส่งทหารไปเสริมกำลังที่อิรัก แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการทำเช่นนั้นอาจทำให้พรรคเดโมแครตซึ่งเพิ่งกลายเป็นฝ่ายคุมเสียงข้างมากในรัฐสภา เสี่ยงทางการเมืองโดยอาจถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายตัดงบประมาณสำหรับทหารอเมริกันได้

ขณะนี้เรื่องอิรักกลายเป็นประเด็นสำคัญในการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีในปี คศ.2008 จนถึงขณะนี้ผู้เข้าชิงชัยจากทั้ง 2 พรรคต่างประกาศจุดยืนของตนไม่ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านยุทธศาสตร์ใหม่ของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชก็ตาม

XS
SM
MD
LG