ลิ้งค์เชื่อมต่อ

มาเลเซียเตรียมดำเนินคดีผู้ต้องหาไทยคดีฝังศพหมู่-ค้ามนุษย์ปี 2015


A man walks in a mass grave amongst coffins of unidentified remains of Rohingya people found at a traffickers camp in Wang Kelian last month, at a cemetery near Alor Setar, Malaysia, June 22, 2015.
A man walks in a mass grave amongst coffins of unidentified remains of Rohingya people found at a traffickers camp in Wang Kelian last month, at a cemetery near Alor Setar, Malaysia, June 22, 2015.

ทางการมาเลเซียเตรียมสั่งฟ้องผู้ต้องหาสัญชาติไทย 4 คนในข้อหาคดีที่เกิดขึ้นหลังมีการพบหลุมฝังศพหมู่และพื้นที่ต้องสงสัยว่าเป็นค่ายปฏิบัติการค้ามนุษย์ที่บริเวณชายแดนมาเลเซีย-ไทย ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่อ้างข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยมาเลเซีย

รายงานข่าวระบุว่า พื้นที่ป่ารกชัฏทางใต้ของไทยที่ติดกับพื้นที่ภาคเหนือของมาเลเซียคือ จุดพักสำคัญของขบวนการลักลอบเคลื่อนย้ายคนจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งทางเรือ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวมุสลิมโรฮีนจาที่หลบหนีเงื้อมมือของทางการเมียนมาและค่ายผู้ลี้ภัยในบังคลาเทศมา

การค้นพบค่ายของขบวนการค้ามนุษย์และหลุมฝังศพหมู่ในพื้นที่ไทยที่ติดกับชายแดนมาเลเซียเมื่อปี ค.ศ. 2015 เป็นจุดกำเนิดให้ทางการไทยทำการปราบปรามกลุ่มลักลอบพาคนหลบเข้าเมืองอย่างหนัก แต่ก็กลายมาเป็นเหตุผลที่ทำให้คนเหล่านั้นทิ้งผู้อพยพหลายพันคนที่อัดกันอยู่ในเรือลำเล็ก ๆ เพื่อเดินทางมาที่ชายแดนไทย-มาเลเซียไว้กลางทะเลแทน

ไซฟุดดิน อิสมาอิล รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยมาเลเซีย ระบุในแถลงการณ์ที่ออกมาในวันพฤหัสบดีว่า มีการจับกุมผู้ต้องหา 4 คนในคดีที่ทีมจากทั้งสองประเทศสืบสวนเกี่ยวกับค่ายดังกล่าว และถูกส่งตัวจากไทยมามาเลเซียเพื่อดำเนินคดีในสัปดาห์นี้ โดยทั้งหมดน่าจะถูกตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการในการปรากฏตัวในศาลในวันศุกร์

รมต.ไซฟุดดิน ไม่ได้เปิดเผยว่า ข้อหาที่จะฟ้องต่อผู้ต้องหาทั้งหมดนี้มีรายละเอียดอย่างไร แต่ย้ำเพียงว่า มาเลเซีย “มุ่งมั่นที่จะรักษาความมั่นคงปลอดภัยตามแนวชายแดน และพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามแดนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับการลักลอบพาผู้อพยพเข้าเมืองและการค้ามนุษย์”

ผู้ต้องหาทั้ง 4 คนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของคนไทย 10 คนที่มาเลเซียพยายามขอให้ไทยส่งตัวมาดำเนินคดีตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 ตามการเปิดเผยของ รมต.ไซฟุดดิน

รอยเตอร์ระบุว่า ทางการมาเลเซียเริ่มกระบวนการไต่สวนสาธารณะเพื่อตรวจสอบว่า เจ้าหน้าที่ของตนทำความผิดพลาดใด ๆ ในการสอบสวนเกี่ยวกับการค้นพบหลุมฝังศพ 139 หลุมและค่ายกว่า 12 แห่งที่ต้องสงสัยว่าเป็นของกลุ่มนักลักลอบขนย้ายคนหรือไม่

การไต่สวนนี้พบว่า มีจุดอ่อนในส่วนของงานลาดตระเวณชายแดน แต่สรุปว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่รักษากฎหมาย ข้าราชการ หรือชาวบ้านของมาเลเซียเกี่ยวข้องกับกระบวนการลักลอบค้ามนุษย์หรือองค์การลักลอบขนผู้อพยพใด ๆ ตามรายงานกระทรวงมหาดไทยมาเลเซียเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของตน

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG