ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อเมริกันใช้บริการ “แคเรน” หวังพ้นกับดัก รอสายถึงชาติหน้า-บริการลูกค้ายอดแย่


Customer service agents are seen at the Jumia customer service office in Lagos, Nigeria January 20, 2020. Picture taken January 20, 2020. REUTERS
Customer service agents are seen at the Jumia customer service office in Lagos, Nigeria January 20, 2020. Picture taken January 20, 2020. REUTERS

ในยุคเศรษฐกิจสมัยใหม่ ที่บริษัทต่าง ๆ พากันใช้บริการตอบรับอัตโนมัติ บริการรับฝากข้อความ หรือการใช้คอลเซ็นเตอร์นอกองค์กรให้มาจัดการปัญหา หรือคอมเพลนต่าง ๆ ลูกค้าหลายคนพบว่าพวกเขาต้องใช้เวลานานหลายชั่วโมง หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน ในการติดต่อเพื่อสะสางปัญหา หรือบางครั้งก็เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือ

สื่อวอชิงตัน โพสต์ (Washington Post) รายงานว่าคู่รักชาวอเมริกันคู่หนึ่ง ได้ก่อตั้งบริษัทเล็ก ๆ ขึ้นมาในเมืองพิตตส์เบิร์ก รัฐเพนซิลวาเนีย โดยใช้ชื่อว่า แคเรนส์ ฟอร์ ไฮร์ (Karens for Hire) ซึ่งเป็นชื่อที่ล้อเลียนภาพพจน์ของ “แคเรน” ในสังคมอเมริกัน ที่ “แคเรน” ได้กลายมาเป็นชื่อเรียกผู้หญิงผิวขาววัยกลายคนที่คิดว่าตัวเองเป็นอภิสิทธิ์ชน คนที่เวลามีปัญหาอะไรมักจะ “ขอคุยกับผู้จัดการ” หรือแม้แต่โทรศัพท์เรียกตำรวจมาจัดการกับคนที่สร้างความรำคาญให้เธอด้วยเรื่องเล็กน้อย

คริส กริมม์ (Chris Grimm) วัย 44 ปี และ ฟัลลอน เซคกา (Fallon Zecca) วัย 35 ปี หวังว่าพวกเขาจะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับโลกของการให้บริการลูกค้า ด้วยการใช้ลูกเล่นที่ไม่เหมือนใคร และปฏิวัติวิธีการคอมเพลน หรือการต่อว่าการให้บริการของบริษัท ห้างร้าน หรือองค์กรต่าง ๆ

นอกจาก คริส และ ฟัลลอน บริษัท Karens for Hire ยังมีลูกจ้างพาร์ทไทม์อีกสองคน และทนายความที่จ้างไว้ปรึกษา ตั้งแต่เปิดบริษัทมาเมื่อฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้ว บริษัทได้รับงานมากว่า 2,300 จากลูกค้าที่ต้องการให้ “แคเรน” ช่วย ลูกค้าเหล่านี้มีความต้องการหลายรูปแบบ เช่น ได้ทำการซื้อขายที่ผิดพลาด และทำให้ต้องการการคืนสินค้าหรือขอเงินคืน การมีข้อพิพาทต่าง ๆ ทั้งเรื่องใหญ่และเรื่องเล็ก ทั้งกับบริษัทยักษ์ใหญ่และห้างร้านในท้องถิ่น

คริสโตเฟอร์ เอลเลียต (Christopher Elliott) เจ้าของคอลัมน์เกี่ยวกับผู้บริโภค แห่ง เอลเลียต แอดโวเคซี (Elliott Advocacy) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ช่วยเหลือผู้บริโภคที่เดือดร้อนกว่า 10,000 คนต่อปี กล่าวกับวอชิงตัน​ โพสต์ว่า ทัศนคติของบริษัทต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไป จากเมื่อก่อนที่บริษัทต้องการที่จะแก้ปัญหาช่วยลูกค้า ตอนนี้บริษัทกลับต้องการเทลูกค้าเหล่านั้นทิ้ง เพราะดูแล้วว่าการหาลูกค้าใหม่มีต้นทุนต่ำกว่าการรักษาฐานลูกค้าเก่า

ลูกค้าที่หันมาใช้บริการแคเรนนั้น ส่วนใหญ่ได้ใช้ความพยายามและความอดทนอย่างมากในการที่จะติดต่อกับบริษัทต่าง ๆ มาด้วยตัวเองแล้ว เช่น บริษัท แอร์บีแอนด์บี (Airbnb) เฟซบุ๊ก (Facebook) บริษัทขายตั๋วออนไลน์ ทิคเก็ตมาสเตอร์ (Ticketmaster) บริษัทโทรคมนาคม ที-โมบายล์ (T-Mobile) บริษัทขายรถยนต์ บริษัทอินเตอร์เน็ต บริษัทประกัน และอื่น ๆ อีกมากมาย

บางคนก็เลือกใช้บริการของแคเรนตั้งแต่แรก เพราะว่าพวกเขายุ่ง หรือรู้สึกท้อแท้เกินกว่าที่จะยกหูโทรศัพท์ติดต่อบริษัทเหล่านั้นด้วยตัวเอง

ลูกค้าหลายคนเป็นผู้ที่เพิ่งอพยพมาอยู่สหรัฐฯ ได้ไม่นาน และคาดว่าภาษาอังกฤษที่ไม่ดีพอ หรือสำเนียงที่ฟังยากของพวกเขา น่าจะเป็นอุปสรรคในการต่อสู้ทางโทรศัพท์รายวันกับบริษัทอเมริกันเหล่านี้

คริสกล่าวว่า ลูกค้าหลายคนไม่ได้ต้องการคนอย่างแคเรนให้มาช่วยต่อว่า บางคนเพียงแต่ต้องการคำแนะนำว่าพวกเขาควรจะต้องคอมเพลนอย่างไร และต้องการรู้ว่าพวกเขาจะยืนหยัดปกป้องสิทธิของตัวเองได้อย่างไร

สำหรับ คริส และ ฟัลลอน นั้น ทั้งสองคนบอกว่าการปกป้องสิทธิของตัวเองเป็นสิ่งที่ทั้งสองทำได้ดีมาตั้งแต่เด็ก ฟัลลอนกล่าวว่า “พวกเรามีเชื้อสายอิตาเลียน เราพูดในใจไม่เป็นหรอก” ทั้งคริสและฟัลลอนกลายเป็นคนที่เพื่อนฝูงญาติพี่น้องต้องมาหา เวลาที่พวกเขาต้องการจะคืนสินค้าหรือต้องการเงินคืน

ฟัลลอนกล่าวว่า หากมีของเสียหาย แม่ของเธอมักจะต้องการเอาไปทิ้ง แต่เธอจะบอกว่า บริษัทเป็นคนขายสินค้าที่ใช้ไม่ได้เหล่านี้ให้เรา เราจะรับไว้แบบนี้ไม่ได้ บริษัทจะสร้างขั้นตอนให้ยุ่งยากเพื่อที่ลูกค้าจะได้ยอมแพ้ไปเอง

ทั้งคู่มีประสบการณ์ในการทำงานในธุรกิจที่สร้างความไม่พอใจให้ลูกค้ามาก่อน รวมทั้งในธุรกิจเทคโนโลยีและการให้บริการด้านสุขภาพ ฟัลลอนยังทำงานประจำเต็มเวลาที่บริษัททำซอฟท์แวร์ทางการแพทย์แห่งหนึ่ง ส่วนคริสนั้นเคยทำงานเป็นพนักงานในร้านแอบเปิล สโตร์ (Apple Store) และทำงานแผนกบริการลูกค้าในตัวแทนจำหน่ายเมอร์เซเดส (Mercedes) เป็นเวลา 6 ปี ซึ่งเป็นงานที่เขาทำยอดขายได้น้อย และกลับได้เรตติ้งการบริการลูกค้าที่สูงที่สุด

พวกเขาติดป้าย “Karens for Hire, Entitled to Help” หรือ “แคเรนสำหรับจ้าง อภิสิทธิชนที่จะช่วยคุณ” ไปทั่วเมืองพิตตส์เบิร์ก ต่อมามีคนถ่ายวีดีโอป้ายดังกล่าวแล้วนำไปเผยแพร่ต่อในโซเชียลมีเดีย ติ๊กตอก (Tiktok) ทำให้มีลูกค้าติดต่อเข้ามามาก

เทคนิคอย่างหนึ่งของ Karens for Hire คือการตามล่าผู้บริหารหรือผู้ที่มีอำนาจรับผิดชอบที่อยู่เหนือโอเปอเรเตอร์ ที่พวกเขามองว่าถูกจ้างมาด้วยค่าแรงต่ำเพื่อให้มาทำงานเหล่านี้

พวกเขาเลือกชื่อ แคเรน ที่เป็นชื่อที่ใช้นำมาล้อเลียนในสังคมอยู่แล้ว เพื่อให้เป็นชื่อที่ติดหูติดตลาด แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะขำไปด้วย ชื่อดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้กับคนในสังคมบางกลุ่มเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ฟัลลอนกล่าวว่า “เราไม่ได้พูดถึงแคเรนที่ไปตะโกนด่าคนชงกาแฟในร้าน แต่เราแค่ต้องการนำเอาพลังงานของแคเรนเหล่านั้นมาทำในสิ่งที่ดี”

  • ที่มา: วอชิงตัน โพสต์
XS
SM
MD
LG