ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ถอดรหัสวงจรชีวิตผันกลับของ ‘แมงกะพรุนอมตะ’ สู่กลไกอายุวัฒนะของมนุษย์


JELLYFISH-GENOME/IMMORTALITY
JELLYFISH-GENOME/IMMORTALITY

แม้การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมชาติที่เราเรียนรู้มา แต่มนุษย์ก็ไม่หยุดคิดค้นเสาะหาวิธีการที่จะมีอายุยืนยาวขึ้น ล่าสุด ทีมวิจัยในสเปนได้ศึกษาและถอดรหัสวงจรชีวิตผันกลับของแมงกะพรุนอมตะ ที่สามารถย้อนวัยได้ ซึ่งอาจช่วยไขสูตรลับความเป็นนิรันดร์อันเป็นประโยชน์แก่มนุษย์

นักวิทยาศาสตร์ในสเปนได้ไขรหัสพันธุกรรมของแมงกะพรุนอมตะ สิ่งมีชีวิตที่มีวงจรชีวิตผันกลับให้สามารถคืนสู่สภาพในวัยเด็กได้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยหวังว่าจะไขความลับของการมีอายุยืนยาวอันเป็นเอกลักษณ์ของพวกมัน และค้นหาเบาะแสใหม่ ๆ เกี่ยวกับความชราภาพของมนุษย์

ในการศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ฉบับเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Oviedo นำโดย Maria Pascual-Torner, Victor Quesada และนักวิจัยคนอื่น ๆ ได้ร่วมทำแผนที่ลำดับพันธุกรรมของ แมงกะพรุนอมตะ หรือ Turritopsis dohrnii ซึ่งเป็นแมงกะพรุนชนิดเดียวที่สามารถย้อนกลับเข้าสู่ระยะตัวอ่อนหลังการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ

แมงกะพรุนอมตะ T. dohrnii จะต้องก้าวผ่านวงจรชีวิตสองส่วน เช่นเดียวกับแมงกะพรุนชนิดอื่น ๆ โดยแมงกะพรุนจะสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศในช่วงที่อยู่บนพื้นทะเล เพราะหน้าที่ของมันในตอนนั้นคือการมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่อาหารขาดแคลน และเมื่อถึงเวลาที่สภาวะเหมาะสม พวกมันจะสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ

แม้ว่าแมงกะพรุนหลาย ๆ ชนิดจะมีความสามารถในการย้อนวัยและเปลี่ยนกลับเป็นระยะตัวอ่อนได้ แต่ส่วนใหญ่พวกมันจะสูญเสียความสามารถนี้เมื่อพวกมันโตเต็มวัยและมีพัฒนาการทางเพศที่สมบูรณ์ แต่ไม่ใช่สำหรับแมงกะพรุน T. dohrnii

Monty Graham ผู้เชี่ยวชาญด้านแมงกะพรุนและผู้อำนวยการสถาบันสมุทรศาสตร์ฟลอริดา ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยนี้กล่าวว่า เป็นที่ทราบอยู่แล้วว่าแมงกะพรุนสายพันธุ์นี้สามารถทำกลอุบายเชิงวิวัฒนาการแบบย่อม ๆ ด้วยการย้อนวัยนี้ได้ประมาณ 15-20 ปี

กลอุบายดังกล่าวนี้ทำให้แมงกะพรุนสายพันธุ์นี้ได้รับสมญานามว่าเป็นแมงกะพรุนอมตะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ Graham ยอมรับว่าเป็นเรื่องเกินความจริงไปเล็กน้อย

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจถึงสิ่งที่ทำให้แมงกะพรุนชนิดนี้แตกต่างไปจากสายพันธุ์อื่น ๆ โดยการเปรียบเทียบลำดับพันธุกรรมของ T. dohrnii กับลำดับของ Turritopsis rubra ซึ่งมีความใกล้เคียงทางพันธุกรรม แต่ไม่สามารถย้อนกลับไปสู่วัยเด็กได้หลังการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ

นักวิจัยพบว่า T. dohrnii มีความหลากหลายในจีโนม ซึ่งอาจช่วยให้พวกมันสามารถคัดลอกและซ่อมแซม DNA ได้ดีกว่า นอกจากนี้ยังสามารถรักษาปลายโครโมโซมที่เรียกว่าเทโลเมียร์ได้ดีกว่าอีกด้วย สำหรับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ความยาวของเทโลเมียร์นั้นสั้นลงตามอายุ

อย่างไรก็ตาม Graham กล่าวว่างานวิจัยนี้ไม่ได้ให้ประโยชน์ที่จะเปลี่ยนเป็นมูลค่าทางการค้าในทันที เช่นว่า เราไม่สามารถไปจับแมงกะพรุนเหล่านี้เพื่อเอามาทำครีมประทินผิว แต่เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจในกระบวนการและการทำงานของโปรตีน ที่ช่วยให้แมงกะพรุนเหล่านี้โกงความตายได้ และว่า การศึกษานี้จะเป็นใบเบิกทางสู่สายการศึกษาใหม่ ๆ ที่น่าติดตาม

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG