ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ดาราอิรักฟ้องนิตยสารอังกฤษ หลังใช้รูปถกประเด็นว่าสตรีอาหรับ 'อ้วน'


ENAS TALEB
ENAS TALEB

อีนาส ทาเลบ ดาราและพิธีกรหญิงชื่อดังของอิรักดำเนินคดีหมิ่นประมาทนิตยสารอังกฤษ The Economist

เธอเรียกร้องให้สื่อฉบับนี้ออกมาขอโทษที่นำรูปภาพของเธอไปใช้ในบทความ ที่พาดหัวว่า “ทำไมสตรีถึงมีรูปร่างอ้วนกว่าผู้ชายในโลกอาหรับ?” ทางฝั่งทาเลบชี้ว่า รูปภาพของเธอถูกใช้ในบริบทที่ทำร้ายจิตใจและเป็นแง่ลบ และสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของดาราสาวและส่งผลกระทบต่อการงาน

ดาราวัย 42 ปีผู้นี้กล่าวว่า “ฉันต่อต้านการใช้รูปลักษณ์ของคนในการวัดว่าคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนผู้นั้น” และพูดเสริมว่า “บทความนี้ไม่ได้ดูถูกตัวฉันแค่เพียงคนเดียว แต่ยังเป็นการละเมิดสิทธิ์ของสตรีชาวอิรักและอาหรับด้วย”

เธอหวังว่า คดีหมิ่นประมาทของเธอจะช่วยทำให้ผู้หญิงคนอื่นหันมารักและภูมิใจในสิ่งที่ตนเองเป็น และพร้อมที่จะต่อสู้กับความยากลำบากที่อาจเกิดขึ้นเพราะทัศนคติข้างต้น

บทความของ The Economist ที่ใช้รูปภาพของทาเลบยืนโบกมืออยู่บทเวทีในงานแห่งหนึ่ง พยายามวิเคราะห์ถึงสาเหตุว่าทำไมสตรีชาวอาหรับถึงมีภาวะโรคอ้วน (obesity) มากกว่าชายชาวอาหรับถึง 10%

ซึ่งบทความนี้สรุปว่า ชาวอาหรับมองว่าทรวดทรงที่อวบอย่างเช่น รูปร่างของทาเลบซึ่งเป็นชาวอิรัก เป็นสิ่งที่น่าดึงดูด

ปัจจุบัน คำว่า “อ้วน” นั้นกลายเป็นคำต้องห้ามสำหรับสื่อตะวันตก เช่น ในกรณีของสหรัฐฯ ที่ดีเจรายการวิทยุสองคนถูกให้ออกจากงานอย่างรวดเร็วหลังทำการล้อเลียนนักกีฬาหญิงว่าอ้วนกลางรายการ

อย่างไรก็ตาม คำว่า “อ้วน” ถูกใช้ถึงหกครั้งในบทความนี้ของ The Economist และแม้นักวิเคราะห์หลาย ๆ คนจะระบุว่าภาวะโรคอ้วนที่แพร่หลายในชาติอาหรับมีส่วนเกี่ยวข้องกับความยากจนและการเหยียดเพศ แต่

สิ่งที่เกิดขึ้นได้สร้างความโกรธและไม่พอใจในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว

ผู้คนในทวิตเตอร์ต่อว่าว่าบทความนั้นแสดงให้ถึงความเกลียดชังผู้หญิง ส่วนนักเขียนบางคนยังตกใจและติว่าเป็นการเหมารวมที่ดูถูกสตรีชาวอาหรับ

นิตยสาร The Economist ไม่ได้ตอบกลับใดๆ แม้สำนักข่าวเอพีติดต่อขอความคิดเห็นหลายครั้งในกรณีที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ สำนักข่าวเอพียังชี้ถึงงานวิจัยที่ระบุว่า ความสวยในแบบชาติตะวันตกผ่านการโฆษณา สื่อต่างๆ และโลกออนไลน์ ได้สร้างมาตรฐานทางรูปลักษณ์ไม่สมจริงแก่สตรีในโลกอาหรับ เช่น รายงานของมหาวิทยาลัย Zayed ในนครดูไบประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมื่อปี 2010 พบว่า ความต้องการทำศัลยกรรมได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศเลบานอน โดยนักเรียนนักศึกษาชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หญิงถึง 75% ระบุพวกเธอไม่พอใจกับรูปลักษณ์ของตนเอง และ 25% มีความเสี่ยงที่จะมีพฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม การเหยียดรูปลักษณ์ของคนที่อ้วนยังเป็นสิ่งที่กระทำกันอย่างแพร่หลายในแถบประเทศอาหรับ เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ หรือ ยุโรปที่มีออกมารณรงค์เพื่อให้คนมั่นใจตัวเองและสนับสนุนการถกประเด็นข้างต้นในสังคมอย่างกว้างขวาง

อเมนิ เอสสีบี สตรีชาวตูนิเซียที่ก้าวขึ้นมาเป็นนางแบบพลัสไซส์คนแรกของโลกอาหรับ กล่าวว่า แนวคิดความมั่นใจในรูปลักษณ์และสิ่งตนเองเป็น (body positivity) ยังถือเป็นเรื่องที่ทำได้ยากพราะสตรีไม่ได้ถูกสอนให้มีทัศนคติดังกล่าวในตะวันออกกลาง แม้คนส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานก็ตาม

แต่นางแบบผู้นี้ได้ชมว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นผู้คนเริ่มสนใจถึงประเด็นการรักในสิ่งที่ตนเองเป็นมากขึ้น และไม่นิ่งเฉยเมื่อมีการตำหนิรูปร่างของสตรีอาหรับอีกต่อไป เพราะผู้คนได้แสดงความเห็นไม่พอใจบนโลกออนไลน์เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

มูลนิธิ Heya เพื่อสตรีในกรุงแบกแดดตำหนิการตีพิมพ์บทความของนิตยสาร The Economist ว่าเป็นการกลั่นแกล้งล้อเลียนสตรี และเรียกร้องให้สื่อฉบับนี้ขอโทษทาเลบ ส่วนมูลนิธิ Musawah ซี่งเป็นองค์กรสตรีในมาเลเซียระบุว่า ความไม่พอใจที่เกิดขึ้นต่อบทความของ The Economist สะท้อนให้เห็นถึงพลังของสตรีในภูมิภาคที่ร่วมต่อต้านและประณามการเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ และเหยียดรูปลักษณ์

สำนักข่าวเอพีทิ้งท้ายว่า ความปลอดภัยในอิรักซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของทาเลบหายากขึ้นทุกวัน เนื่องจากความขัดแย้งที่เกิดมายาวนานภายในประเทศ ปัจจัยข้างต้นยังส่งผลให้เหล่าสตรีที่กล้าพูดกล้าแสดงออกถูกหมายหัวและอาจตกเป็นเป้าถูกทำร้ายถึงชีวิตอีกด้วย

  • ที่มา: เอพี

XS
SM
MD
LG