ทำเนียบขาวประกาศส่งความช่วยเหลือด้านความมั่นคงแก่ยูเครนอีก 270 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงการส่งระบบจรวดหลายลำกล้อง (High Mobility Artillery Rocket System – HIMARS) และโดรนเพื่อปฏิบัติการยุทธวิธี ด้านผู้นำยูเครนปัดเจรจาหยุดยิงกับรัสเซีย จนกว่าจะได้ทวงคืนพื้นที่ที่รัสเซียบุกยึดครองได้เสียก่อน
ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ย้ำว่าการเจรจาหยุดยิงกับรัสเซียโดยปราศจากการยึดคืนดินแดนของยูเครนนั้น จะยิ่งทำให้สงครามยืดเยื้อไปอีก ตามรายงานของรอยเตอร์
ผู้นำยูเครน ให้สัมภาษณ์กับวอลสตรีท เจอร์นัล ในวันศุกร์ เตือน การเจรจาหยุดยิงกับรัสเซีย จะเปิดทางให้รัสเซียครอบครองพื้นที่ของยูเครนที่รัสเซียโจมตีและบุกยึดมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ และกระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งยืดเยื้อในวงกว้างออกไปอีก และยังเปิดทางให้รัฐบาลมอสโกในการเสริมทัพเพื่อโจมตีครั้งต่อไป พร้อมเรียกร้องระบบอาวุธจากชาติตะวันตกเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับการโจมตีของรัสเซีย
ส่วนประเด็นที่ยูเครนได้ลงนามสี่ฝ่ายกับรัสเซีย ตุรกี และสหภาพยุโรป ใน “ข้อริเริ่มทะเลดำ” (Black Sea Initiative) เพื่อเปิดทางให้ธัญพืชจำนวนหลายล้านตันของยูเครนเข้าสู่ตลาดโลก และบรรเทาวิกฤตทางอาหารในประเทศกำลังพัฒนานั้น ผู้นำยูเครนมองว่า การเจรจากับมอสโกอาจช่วยรักษาเสถียรภาพให้ตลาดได้บ้าง แต่เป็นเพียงผลระยะสั้นและอาจมีผลกระทบที่รุนแรงกว่าตามมาได้
อีกด้านในวันศุกร์ ทำเนียบขาว ประกาศความช่วยเหลือล่าสุดนี้เพิ่มจากงบความช่วยเหลือด้านการทหารที่สหรัฐฯ ให้กับยูเครนอยู่ที่ 8,200 ล้านดอลลาร์ โดยภายใต้ความช่วยเหลือนี้ รวมทั้งระบบจรวดหลายลำกล้อง (High Mobility Artillery Rocket System – HIMARS) โดรนปฏิบัติการยุทธวิธี Phoenix Ghost ซึ่งเป็นระบบอาวุธสำคัญที่จะช่วยให้ยูเครนต้านทานการรุกรานของรัสเซีย
จอห์น เคอร์บี้ โฆษกฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า “ประธานาธิบดี (ไบเดน) ย้ำชัดเจนว่าเรา (สหรัฐฯ) จะเดินหน้าสนับสนุนรัฐบาลและประชาชนชาวยูเครนตราบนานเท่านาน” ตามรายงานของเอพี
เมื่อวันพุธ สหรัฐฯ ประเมินว่ามีทหารรัสเซียเสียชีวิตราว 15,000 นาย จากการบุกยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อ้างอิงจาก วิลเลียม เบิร์นส์ ผู้อำนวยการของสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ ซึ่งตัวเลขการเสียชีวิตของเหล่าทหารรัสเซียดังกล่าวเทียบเท่ากับความสูญเสียที่เกิดขึ้นในสงครามโซเวียต-อัฟกานิสถาน เมื่อช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ที่กินเวลาเกือบสิบปี
ทั้งยูเครนและรัสเซีย ต่างใช้โดรนในการสู้รบครั้งแรก โดยยูเครนพึ่งพาเทคโนโลยีจากชาติตะวันตกในการสู้รบทางภาคตะวันออกของประเทศ ขณะที่สหรัฐฯ เชื่อว่ารัสเซียมีแผนจะสั่งซื้อโดรนเพิ่มเติมจากอิหร่านด้วยเช่นกัน
- ที่มา: เอพีและรอยเตอร์