ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เปิดปมเศรษฐกิจศรีลังกาล่มสลาย และก้าวต่อไปเพื่อฟื้นฟู


Sri Lanka
Sri Lanka

นายกรัฐมนตรีศรีลังกา รานิล วิกรมสิงเห ซึ่งก้าวขึ้นมารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคม ออกมายอมรับเมื่อวันพุธว่า เศรษฐกิจของประเทศ “ล่มสลาย” ลงแล้ว เพราะขาดแคลนเงินสำหรับการนำเข้าอาหารและพลังงานที่จำเป็นในการขับเคลื่อนประเทศ รวมทั้งมองหาช่องทางการกู้ยืมจากจีน อินเดีย และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF

ในวันเดียวกันนี้ นายกฯ ศรีลังกา ผู้ซึ่งเข้ามารับเผือกร้อนได้ไม่กี่สัปดาห์ในการกู้วิกฤตเศรษฐกิจประเทศ ยอมรับว่าประเทศกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ก้นบึ้งของวิกฤต ภาพของประชาชนชาวศรีลังกาต้องอดมื้อกินมื้อเพราะภาวะขาดแคลนอาหารและสินค้าจำเป็น ต้องต่อแถวรอคิวยาวเหยียดเพื่อซื้อหาน้ำมันเชื้อเพลิง กลายเป็นความเป็นจริงอันโหดร้ายของศรีลังกา ซึ่งเคยมีภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และสัดส่วนของประชากรที่มีรายได้ปานกลางกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนที่วิกฤตเศรษฐกิจจะถาโถมซัดเข้าใส่และฉุดศรีลังกาให้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจล่มสลายในตอนนี้

SRI LANKA-ECONOMY-FUEL
SRI LANKA-ECONOMY-FUEL

ศรีลังกามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

นักเศรษฐศาสตร์ ต่างกล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกาเกิดจากปัจจัยภายในประเทศ ทั้งการบริหารที่ล้มเหลวและปัญหาการทุจริตที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน

สถานการณ์เริ่มเลวร้ายลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี พ.ศ. 2562 เกิดเหตุระเบิดโจมตีโบสถ์ในวันอีสเตอร์ คร่าชีวิตกว่า 260 คน สะเทือนภาคการท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้จากต่างประเทศที่สำคัญของศรีลังกาครั้งใหญ่

รัฐบาลศรีลังกาพยายามกระตุ้นรายได้เพื่อชดเชยภาระหนี้ต่างประเทศที่พุ่งสูงจากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้งบมหาศาล แต่ประธานาธิบดีราชปักษะกลับประกาศแผนลดภาษีครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ประเทศ ศรีลังกาถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่าง ๆ ปิดกั้นหนทางกู้ยืมต่างประเทศ ก่อนที่การท่องเที่ยวที่เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงสำคัญจะถูกกระทบหนักด้วยการระบาดใหญ่ของโควิด-19

ศรีลังกาเผชิญกับภาระหนี้ภาครัฐปริมาณมหาศาลและเงินสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอลงเรื่อย ๆ เมื่อเดือนเมษายน ปธน.ศรีลังกา ประกาศห้ามนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศหลายชนิด รวมทั้งห้ามนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศและผลักดันการเกษตรอินทรีย์ ส่งผลให้ราคาพืชผลการเกษตรพุ่งสูงขึ้น เมื่อสงครามยูเครนปะทุขึ้น ดันราคาอาหารและน้ำมันพุ่งสูง ภาวะเงินเฟ้อศรีลังทะยานเกือบแตะระดับ 40% ราคาอาหารพุ่งสูงเกือบ 60% ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ประธานาธิบดีโคฐาภยะ ราชปักษะ และมหินทา ราชปักษะ อดีตนายกรัฐมนตรี ตกเป็นเป้าวิจารณ์ถึงความล้มเหลวในการบริหารประเทศ นำไปสู่การประท้วงขับไล่ออกจากตำแหน่งที่กลายเป็นเหตุรุนแรงในช่วงที่ผ่านมาของศรีลังกา

วิกฤตเศรษฐกิจศรีลังการุนแรงแค่ไหน?

ปัจจุบัน รัฐบาลศรีลังกา มีภาระหนี้ 51,000 ล้านดอลลาร์ และไม่สามารถที่จะชำระดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวได้ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ได้รับผลกระทบการการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และความกังวลเรื่องความปลอดภัยหลังจากเหตุก่อการร้ายเมื่อ 3 ปีก่อน ซ้ำร้ายค่าเงินศรีลังการ่วงหนักถึง 80% ทำให้การนำเข้าสินค้าต่าง ๆ แพงขึ้นอย่างมาก และทำให้ภาวะเงินเฟ้อของประเทศเป็นปัญหาที่ยากเกินควบคุม ด้วยต้นทุนราคาอาหารพุ่งสูง 57% อ้างอิงจากข้อมูลของรัฐบาลศรีลังกา

จากปัจจัยทั้งหลายที่กล่าวมา ได้ผลักให้ศรีลังกาดำดิ่งเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ไม่มีเงินสำหรับการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง นม แก๊สหุงต้ม หรือแม้แต่กระดาษชำระ

อีกด้านหนึ่ง ยังมีปัญหาการทุจริตในศรีลังกา ไม่เพียงแต่มีบทบาทสำคัญในการทำลายความมั่งคั่งของประเทศแล้ว ยังเป็นอุปสรรคต่อการกู้วิฤตการเงินของศรีลังกาอีกด้วย

อนิต มูเคอร์จี นักเศรษฐศาสตร์จาก Center for Global Development ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF และธนาคารโลก หรือ World Bank ควรมาพร้อมกับเงื่อนไขที่เข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่าความช่วยเหลือดังกล่าวจะไม่ถูกนำไปใช้อย่างผิดพลาด

อย่างไรก็ตาม มูเคอร์จี ชี้ว่า ศรีลังกาตั้งอยู่ในพิกัดที่เป็นประเทศเส้นทางขนส่งที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ดังนั้น การปล่อยให้ประเทศดำดิ่งเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจล่มสลายนั้นไม่ควรเป็นทางเลือกของศรีลังกา

SRI LANKA-CRISIS-UNREST-ECONOMY
SRI LANKA-CRISIS-UNREST-ECONOMY

ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวศรีลังกาตอนนี้เป็นอย่างไร?

ประเทศศรีลังกาไม่เคยประสบกับภาวะขาดแคลนอาหาร แต่จากข้อมูลของโครงการอาหารโลก หรือ WFP ชี้ว่า เกือบ 9 ใน 10 ครอบครัวศรีลังกา ต้องอดมื้อกินมื้อ ขณะที่กว่า 3 ล้านครัวเรือนเริ่มได้รับความช่วยเหลือฉุกเฉินด้านมนุษยธรรมแล้ว

ตอนนี้ ทีมแพทย์ได้ระดมช่องทางสื่อสังคมออนไลน์เพื่อส่งความช่วยเหลือด้านการแพทย์ให้กับศรีลังกา มีรายงานประชาชนศรีลังกาจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เตรียมเดินทางไปต่างประเทศเพื่อหางานทำ เจ้าหน้าที่รัฐบาลศรีลังกาต้องหยุดงาน 1 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อปลูกข้าวและทำการเกษตรในการแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารในประเทศ โดยสรุปคือผู้คนในศรีลังกากำลังตกทุกข์ได้ยากและโหยหาหนทางที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ทำไม นายกฯ ศรีลังกา จึงออกมายอมรับว่าเศรษฐกิจ “ล่มสลาย” แล้ว?

ในรายงานของเอพี ชี้ว่า การประกาศอย่างชัดแจ้งถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของนายกฯ ศรีลังกานั้น ไม่ได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงใด ๆ โดยนายกฯ วิกรมสิงเห ตอกย้ำความท้าทายที่รัฐบาลต้องเผชิญ ระหว่างการยื่นขอความช่วยเหลือจาก IMF และใช้พื้นที่นี้กลบเสียงวิจารณ์ว่าไร้ความคืบหน้าในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศ ถ้อยแถลงที่เกิดขึ้นเมื่อวันพุธของนายกฯ ศรีลังกา อาจเป็นความพยายามซื้อเวลาและแรงสนับสนุน ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเท่านั้น

ศรีลังกาสั่งระงับการชำระคืนหนี้ต่างประเทศ 7,000 ล้านดอลลาร์ที่มีกำหนดชำระคืนในปีนี้ไป โดยรัฐมนตรีคลังศรีลังกา กล่าวว่า ศรีลังกามีเงินสำรองต่างประเทศเหลืออยู่เพียง 25 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ต่างประเทศระดับหมื่นล้าน หรือแม้แต่นำเข้าสินค้าจำเป็นได้ ขณะที่ค่าเงินรูปีศรีลังกา อ่อนค่าหนักมาอยู่ที่ราว 360 รูปีต่อดอลลาร์ ทำให้ต้นทุนนำเข้าสินค้าสูงลิ่ว

รัฐบาลศรีลังกาพยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างไรบ้าง?

นายกฯ วิกรมสิงเห นั้นมีประสบการณ์ทางการเมืองมากมาย และนี่คือวาระที่หกของเขาในฐานะนายกรัฐมนตรีศรีลังกาแล้ว

จนถึงขณะนี้ ศรีลังกายังดำผุดดำว่ายอยู่ในทะเลหนี้ โดยได้รับความช่วยเหลือหลักจากอินเดีย ราว 4,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งตัวแทนจากรัฐบาลอินเดีย เยือนกรุงโคลอมโบ เมื่อวันพฤหัสบดี เพื่อหารือเรื่องความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ศรีลังกา แต่นายกฯ วิกรมสิงเห ได้เตือนว่าอินเดียคงไม่ปล่อยให้ศรีลังกาลอยตัวเหนือภาระหนี้นี้ได้นาน

ความหวังสุดท้ายของศรีลังกาจึงตกอยู่กับ IMF ซึ่งเป็นพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ โคลอมโบ ไทมส์ ของวันพฤหัสบดีนี้ คณะทำงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เริ่มการเจรจาเรื่องเงินกู้กับประเทศศรีลังกา ซึ่งนายกฯ วิกรมสิงเห คาดว่า จะได้ข้อสรุปผลการเจรจาเบื้องต้นภายในปลายเดือนกรกฎาคมนี้

นอกจากนี้ รัฐบาลศรีลังกาอยู่ระหว่างการหารือกับจีน ขณะที่มีหลายประเทศทั้งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย จัดสรรความช่วยเหลือให้กับศรีลังกาเพิ่มเติมเช่นกัน

ส่วนประเด็นการขาดแคลนพลังงาน นายกฯ วิกรมสิงเห ทิ้งท้ายกับเอพีในการสัมภาษณ์ล่าสุดว่า ศรีลังกาอาจพิจารณาซื้อน้ำมันที่ได้ส่วนลดจากรัสเซีย เพื่อแก้ปัญหาการด้านพลังงานในประเทศ

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG