ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยพบสารเคมีในปะการังทะเลอาจช่วยรักษามะเร็ง


APTOPIX Climate Coral Reef Awareness
APTOPIX Climate Coral Reef Awareness

นักวิจัยพบสารเคมีในปะการังทะเลที่อาจมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งได้ โดยได้พยายามค้นคว้าวิจัยในเรื่องนี้มานานกว่า 25 ปีแล้ว หลังจากที่การศึกษาในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1990 ได้แสดงให้เห็นว่าสารเคมีดังกล่าวอาจช่วยชะลอการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ และในที่สุดนักวิจัยก็ได้ค้นพบสารนี้ในปะการังอ่อนชนิดทั่ว ๆ ไปนอกชายฝั่งรัฐฟลอริดา

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Utah ได้ยืนยันการค้นพบนี้ พร้อมชี้ว่าผลการศึกษาของพวกเขาอาจนำไปสู่การผลิตสารที่จะใช้เป็นยารักษามะเร็งอย่างแพร่หลายได้

รายงานขององค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ NOAA ระบุว่า การใช้สารธรรมชาติในการรักษาโรคนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ สารประกอบจากสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ทะเล งู แมงมุม และสัตว์อื่น ๆ ล้วนได้รับการศึกษาและทดสอบมานานแล้วว่าอาจใช้รักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้

รายงานของ NOAA ระบุว่า เนื่องจากปะการังจำนวนมากมักอยู่ในที่เดียวกัน ดังนั้นพวกมันจึงพัฒนาสารเคมีเพื่อปกป้องตัวเองสิ่งมีชีวิตในทะเลรูปแบบอื่น ๆ ที่อาจคุกคามพวกมัน นักวิทยาศาสตร์ศึกษาสารเคมีดังกล่าวเพื่อค้นหาวิธีที่จะนำไปใช้ในทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพได้

แต่อุปสรรคสำคัญสำหรับความพยายามเหล่านี้คือความยากลำบากในการรวบรวมสารประกอบเหล่านี้ให้เพียงพอที่จะนำไปทำการศึกษาวิจัยถึงประสิทธิภาพในการรักษาโรค

ทั้งนี้ สารเคมีที่ใช้ในการศึกษาครั้งล่าสุด เรียกว่า อีลลูเธอโรบิน (eleutherobin) ซึ่งถูกค้นพบในปะการังอ่อนใกล้ ๆ ออสเตรเลีย โดยนักวิทยาศาสตร์ได้รายงานไว้ในช่วงคริสต์ทศวรรษ1990 ว่าสารเคมีเหล่านี้มีคุณสมบัติในการต้านมะเร็ง

นักวิจัยที่ทำการศึกษาในเรื่องนี้กล่าวว่า สารเคมีที่ปะการังอ่อนใช้ปกป้องตัวเองจากบรรดานักล่านั้น อาจช่วยทำลายโครงสร้างเซลล์ที่สำคัญ และการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ยังชี้ให้เห็นด้วยว่าสารประกอบดังกล่าวสามารถลดการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้

พอล เซสซา (Paul Scesa) นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานในทีมวิจัยของ University of Utah ได้พบปะการังอ่อนที่มีสารอีลลูเธอโรบินในมหาสมุทรนอกชายฝั่งฟลอริดา

นักวิจัยพยายามศึกษาว่า ปะการังสร้างสารเคมีนั้นขึ้นมาเองหรือเกิดจากสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกันภายในปะการังกันแน่ เซสซาไม่เชื่อว่าสารประกอบนี้จะผลิตขึ้นโดยสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เท่านั้น เนื่องจากปะการังอ่อนบางชนิดไม่ได้มีสิ่งมีชีวิตอื่นอาศัยร่วมอยู่ด้วย แต่พวกมันก็มีสารเคมีดังกล่าวอยู่ในตัว

เพื่อทดสอบทฤษฎีของพวกเขา นักวิจัยพยายามที่จะศึกษาค้นคว้าว่าปะการังผลิตสารเคมีได้อย่างไร โดยการศึกษารหัสพันธุกรรมของปะการังเพื่อดูว่ามีอะไรที่บ่งชี้ถึงวิธีการผลิตสารเคมีของพวกมันหรือไม่

นักวิจัยรายงานว่า พวกเขาสามารถระบุส่วนต่าง ๆ ของ DNA ในปะการังที่ใกล้เคียงกับคำสั่งทางพันธุกรรมสำหรับสารประกอบที่คล้ายคลึงกันในสายพันธุ์อื่น จากนั้นนักวิจัยศึกษาชุดคำสั่งเหล่านั้นร่วมกับแบคทีเรียที่เติบโตในห้องทดลอง และพบว่าจุลินทรีย์จากแบคทีเรียสามารถคัดลอกขั้นตอนแรกของการผลิตสารอิลลูเธอโรบินได้

นักวิจัยกล่าวว่า การทดลองของพวกเขาแสดงให้เห็นว่าอาจสามารถผลิตสารเคมีในห้องทดลอง ซึ่งอาจนำไปสู่การผลิตยาต้านมะเร็งชนิดใหม่ ซึ่งเซสซาหวังว่าจะสามารถส่งมอบยาต้านมะเร็งจากปะการังนี้ให้แก่แพทย์ได้ในอนาคต

การค้นพบนี้ตีพิมพ์อยู่ในวารสาร Nature Chemical Biology

  • ที่มา: VOA
XS
SM
MD
LG