ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้บริโภคเฮ! ‘อียู’ เล็งบังคับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนใช้หัวชาร์จแบบเดียวกันทั้งหมด


Belgium Europe Common Phone Charger
Belgium Europe Common Phone Charger

หมดปัญหาเวลาลืมที่ชาร์จมือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จนต้องเดือดร้อนไปซื้อหา เมื่อสหภาพยุโรป (อียู) ลงนามในข้อตกลงชั่วคราว ว่าด้วยการบังคับให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟน ใช้สายชาร์จรูปแบบเดียวกันทั้งหมดกับทุกอุปกรณ์ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้อีก 2 ปีข้างหน้า ตามรายงานของเอพี

ภายใต้มาตรการใหม่ที่เพิ่งลงนามในวันอังคาร ที่จะมีผลบังคับใช้ในฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 2024 จะให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนทั้งหมดหันมาใช้หัวชาร์จแบบ USB-C เพียงแบบเดียวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาขนาดเล็กและขนาดกลาง ทั้งสมาร์ทโฟน แทบเล็ต แลปท้อป หูฟัง กล้องดิจิทัล เครื่องเล่นเกมพกพา คีย์บอร์ดและเมาส์ ลำโพงพกพา และจีพีเอส เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวอยู่แล้ว ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาความสับสนในกลุ่มผู้ใช้งานที่มีอุปกรณ์ต่างแบรนด์อยู่ในมือแล้ว ยังเป็นหนทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืนและลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในสหภาพยุโรปได้อีกทางหนึ่ง

หัวหน้าฝ่ายเจรจาของคณะกรรมาธิการยุโรป อเล็กซ์ อากิอุส ซาลิบา ระบุในวันอังคารว่า ผู้บริโภคในยุโรปประสบปัญหากับสายชาร์จมากมายหลายแบบที่กองอยู่ที่บ้าน ตอนนี้พวกเขาจะสามารถพกสายชาร์จเพียงแบบเดียวกับทุกอุปกรณ์ที่มีในมือได้แล้ว ซึ่งเป็นก้าวที่สำคัญในการเพิ่มความสะดวกสบายแก่ผู้บริโภคในยุโรป

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จำหน่ายใน 30 ประเทศในยุโรปเท่านั้น ขณะที่บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายแห่ง เริ่มใช้ระบบสายชาร์จแบบ USB-C กับอุปกรณ์ต่าง ๆ แล้ว

ด้านแอปเปิล (Apple) หนึ่งในผู้ผลิตรายใหญ่ที่คัดค้านแนวคิดดังกล่าว ไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการผลักดันมาตรการดังกล่าวกับเอพีในช่วงที่มีการรายงาน แต่เมื่อปีก่อน แอปเปิล แสดงความกังวลว่ามาตรการดังกล่าวจะกระทบต่อการพัฒนานวตกรรมและสร้างความเดือดร้อนกับผู้บริโภค แม้ว่าไอโฟน ของแอปเปิล มีสายชาร์จที่ใช้งานกับหัวชาร์จแบบไลท์นิง (Lightning charging port) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของตน ที่สามารถเสียบเข้ากับช่อง USB-C ได้แล้วก็ตาม

อียูใช้เวลากว่าสิบปีในการผลักดันนโยบายหัวชาร์จเดียวทั่วยุโรป จนกระทั่งมีความคืบหน้าในปีนี้ นอกจากนี้ทางอียู ได้วางแผนให้มีการจัดทำมาตรฐานเทคโนโลยีการชาร์จแบบรวดเร็วขึ้นมาด้วย และเปิดทางให้ผู้บริโภคมีสิทธิ์เลือกว่าจะซื้ออุปกรณ์ใหม่พร้อมสายชาร์จหรือไม่ ซึ่งอียูคาดว่าจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคได้ราว 250 ล้านยูโรต่อปีทีเดียว

ซาลิบา เพิ่มเติมว่า สายชาร์จที่จำหน่ายพ่วงมากับอุปกรณ์ราว 1 ใน 3 ยังคงเก็บอยู่ในกล่องอุปกรณ์ที่ซื้อไปโดยไม่ได้นำมาใช้ และนอกจากการอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคแล้ว อียู ยังตั้งใจจะใช้นโยบายนี้เพื่อช่วยลดปริมาณขยะอิเลกทรอนิกส์ในยุโรปที่มีมากถึง 11,000 ตันต่อปีด้วย

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG