นักวิทยาศาสตร์สามารถถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์เป็นครั้งเเรก โดยใช้เวลาสานต่องานเพิ่มเติมเกือบ 20 ปีจนในที่สุดพบข้อมูลพันธุกรรมส่วนที่ยังเหลืออยู่สำเร็จ ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี
กลุ่มนักวิจัยนานาชาติ ซึ่งประกอบด้วย เอวาน ไอช์เลอร์ แห่ง University of Washington รวมถึงลูกศิษย์ของเขา และนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ตีพิมพ์การศึกษาชิ้นนี้ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ Science
ความพยายามก่อนหน้านี้ที่จะถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ยังขาดข้อมูลอีก 8% เนื่องจากเทคโนโลยีในงานวิจัยมีข้อจำกัด
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าความรู้อย่างด้านรหัสพันธุกรรมมนุษย์อย่างครบถ้วนจะสามารถสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นเรื่องวิวัฒนาการและการศึกษาด้านชีววิทยา ตลอดจนยังเป็นพื้นฐานการค้นคว้าในอนาคตเกี่ยวกับการเสื่อมถอยของระบบประสาท และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่นมะเร็ง และโรคหัวใจ
ครั้งเเรกที่มีการเปิดเผยร่างแบบพันธุกรรมมนุษย์เกิดขึ้นเมื่อ 22 ปีก่อนที่งานเเถลงข่าวที่ทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ในโครงการที่นำโดยหน่วยงานของรัฐบาลอเมริกัน National Institutes of Health และบริษัทเอกชนที่ชื่อ Celera Genomics ในรัฐเเมรี่เเลนด์
ทั้งนี้พันธุกรรมของมนุษย์ประกอบด้วยหน่วยย่อยของดีเอ็นเอ 3,100 ล้านหน่วย ซึ่งมีสารตั้งต้นทางเคมีเป็นคู่ๆ และถูกจำเเนกเป็นชื่อตามอักษรภาษาอังกฤษ A, C, G และ T
พันธุกรรมของมนุษย์มีลักษณะเป็นเส้นที่มีการเชื่อมต่อของคู่สารตั้งต้นเหล่านั้น ซึ่งกำหนดการสร้างหน่วยโปรตีนที่เป็นพื้นฐานของการก่อกำเนิดชีวิต
มนุษย์มีหน่วยพันธุกรรมหรือจีนส์ 30,000 หน่วย ซึ่งแบกเป็น 23 กลุ่ม "โครโมโซม" ที่พบในนิวเคลียสของทุกๆเซลล์ในร่างกาย
- ที่มา: เอพี