ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เยาวชนเอเชียนอเมริกัน ตื่นตัวฝึกเล่นสเก็ตน้ำแข็ง-หวังแข่งโอลิมปิก


Victory Ceremony - Figure Skating Men's Single Skating
Victory Ceremony - Figure Skating Men's Single Skating

โอลิมปิกฤดูหนาวที่เพิ่งผ่านไปได้แสดงให้ผู้คนเห็นดาวเด่นที่เป็นคนเอเชียนอเมริกันมากขึ้น โดยเฉพาะในกีฬาสเก็ตน้ำแข็งลีลา (figure skating) ที่ทีมชาติสหรัฐฯมีตัวแทนเป็นคนเชื้อสายเอเชียเกินกว่าครึ่ง ปรากฏการณ์ข้างต้นนี้ยังได้จุดประกายให้เยาวชนเอเชียนอเมริกันหันมาฝึกฝนลวดลายบนลานน้ำแข็งเพื่อที่พวกเขาจะได้มีโอกาสเข้าแข่งโอลิมปิกในอนาคตอีกด้วย

สาวน้อยชาวอเมริกันเชื้อสายไทยวัย 8 ขวบ เชอรี่ นารี เวสเตอร์ และเพื่อนเชื้อสายเอเชียของเธอที่ร่วมฝึกการวาดลีลาบนลานน้ำแข็งในเขต Fairfax ไม่ไกลนักจาก กรุงวอชิงตันอย่าง จาด้า วอง ต่างบอกกับวีโอเอว่า พวกเธอชื่นชอบความพลิ้วที่งดงามของกีฬาสเก็ตน้ำแข็งลีลา ความท้าท้ายในการฝึกท่าต่างๆ และประทับใจที่ทีมชาติสหรัฐฯ ของกีฬานี้มีตัวแทนชาวเอเชียนอเมริกัน

เชอรี่บอกว่าเป้าหมายของเธอในอนาคตคือการเข้าแข่งขันโอลิมปิก เธอนั้นชื่นชอบลีลาการสเก็ตของ คาเร็น เชน นักกีฬาหญิงทีมชาติสหรัฐฯ มาก ส่วน จาด้า นั้นต้องการชิงทุนการศึกษาเพื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยจากความสามารถในการเล่นสเก็ตน้ำแข็งของเธอ

ในบรรดาดาวเด่นที่เป็นเเรงบันดาลใจของเยาวชน คือ นาธาน เชน นักกีฬาสเก็ตน้ำแข็งลีลาของทีมชาติสหรัฐฯ ที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกอีกหลายครั้ง รวมทั้งจาก ‘ปักกิ่ง เกมส์ 2022’ และพัฒนาตนเองจนประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้เช่นกัน

เชน กล่าวว่า “สำหรับผม การเติบโตในเมือง Salt Lake City และมีนักกีฬาที่หน้าตาอย่าง Michelle Kwan ถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ การที่มีนักกีฬาที่หน้าตาเหมือนผมนั้นมันช่วยสร้างความหวังให้ว่าวันหนึ่งผมจะสามารถ (ประสบความสำเร็จ) ได้เช่นกัน”

ทั้งนี้ กว่าที่คนเอเชียนอเมริกันจะมาเป็นตัวแทนของทีมชาติสหรัฐฯบนเวทีระดับโลกได้นั้นจำต้องใช้เวลาถึง 30 ปี โดยชาวเอเชียเชื้อสายเอมริกันคนแรกที่ชนะการแข่งขันสเก็ตลีลา คือ ทิฟฟานี่ ชิน ในปี 1985 และในปี 1992 คริสตี้ ยามากุชิ ได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยเป็นนักกีฬาชาวเอมริกันเชื้อสายเอเชียคนแรกที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิกฤดูหนาวในประเทศฝรั่งเศสมาได้

People Nancy Kerrigan Kristi Yamaguchi
People Nancy Kerrigan Kristi Yamaguchi

ซูซาน บราวน์เนล อาจารย์มานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Missouri-St. Louis อธิบายให้วีโอเอฟังว่า พ่อแม่ชาวอเมริกันเชื้อสายยุโรปมักจะนิยมให้ลูกๆ ของพวกเขาเล่นกีฬาที่ใช้กำลังการปะทะ เช่นกีฬาอเมริกันฟุตบอลหรือเบสบอล แตกต่างจากพ่อแม่ที่เป็นเอเชียนอเมริกันที่ไม่ต้องการให้ลูกๆได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาที่ใช้ความรุนแรงจึงมักนิยมกีฬาสเก็ตน้ำแข็ง

ทางด้าน ไฮดี้ เกร็ปเพนดรอฟ์ อาจารย์ด้านการบริหารธุรกิจกีฬาแห่งมหาวิทยาลัย Western Carolina University ชี้ว่า เอเชียนอเมริกันเลือกที่จะเล่นกีฬาสเก็ตน้ำแข็งลีลาเพราะกีฬาข้างต้นเปิดโอกาสในเรื่องความเท่าเทียมกันเมื่อนักกีฬาเอเชียนอเมริกันลงแข่งขันกับคนเชื้อสายอื่นๆ

เธอกล่าวว่า “กีฬาสเก็ตน้ำแข็งลีลาให้บรรยากาศที่เปิดกว้างด้วยความยินดีและให้การยอมรับแก่ (ผู้เล่น) โดยอาจจะไม่คำนึงถึงการตัดสินคนเเบบเหมารวม (stereotypes) มากกว่ากีฬาประเภทอื่น เช่น อเมริกันฟุตบอลหรือบาสเก็ตบอล” และเธอกล่าวเสริมด้วยว่า “การที่บางคนชี้ว่าเอเชียนอเมริกันเลือกเป็นนักสเก็ตน้ำแข็งลีลาเพราะสรีระร่างกายเป็นคำกล่าวที่ไร้สาระและเป็นการเหยียดเชื้อชาติ”

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการเล่นกีฬาสเก็ตน้ำแข็งที่สูงหลายพันดอลลาร์ต่อปีถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยอาจารย์เกร็ปเพนดรอฟ์กล่าวว่า ชาวเอเชียอเมริกันสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือต่างๆ ได้มากกว่าและยังมีรายได้ที่สูงกว่าคนกลุ่มอื่นจึงไม่ย่อท้อในการเล่นกีฬาประเภทข้างต้น

ส่วนอาจารย์ บราวน์เนล ระบุว่า ผู้ปกครองหลายคนของนักกีฬาเหล่านี้พยายามสนับสนุนให้ลูกๆ เล่นกีฬานี้โดยการทำงานหลายๆที่ เพราะมีเพียงนักสเก็ตน้ำแข็งลีลาที่มีความสามารถสูงเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสปอนเซอร์ ส่วนนักกีฬาที่สามารถลงแข่งในระดับชาติหรือสากลได้ก็จะได้รับเบี้ยจากองค์กร U.S. Figure Skating แห่งชาติสหรัฐฯ และองค์กรนี้จะสนับสนุนเงินจำนวน 750,000 ดอลลาร์ต่อปี พร้อมทั้งเบี้ยตั้งแต่ไม่กี่พันดอลลาร์ไปจนถึง 40,000 ดอลลาร์ ตามการคำนวนของอาจารย์ผู้นี้

เว็นดี ไจ้-บราว์ คุณแม่ที่มีลูกสาวเอเชียนอเมริกันวัย 8 ขวบที่เล่นสเก็ตน้ำแข็ง ได้ลาออกจากงานขายประกันและผันตัวมาเป็นนักขายอสังหาริมทรัพท์เพื่อให้สามารถมารับส่งลูกของเธอเวลาซ้อมได้บอกวีโอเอว่า กีฬาประเภทนี้มีค่าใช้จ่ายสูง แต่เธอมองว่ามันคือการลงทุนที่นอกเหนือจากการอ่านหนังสือในห้องเรียน เพราะการลงทุนระยะยาวด้วยกีฬาจะสามารถช่วยฝึกฝนผู้เล่นได้ทั้งกายและใจ

อย่างไรก็ตาม แม้นักกีฬาเยาวชนเหล่านี้จะมีตารางการซ้อมที่เคร่งครัด แต่เอเดรียนา เดอแซงทิส ครูฝึกซ้อมที่ลานสเก็ตน้ำแข็งในชาญเมืองแถบ Fairfax ของกรุงวอชิงตัน ทิ้งท้ายว่า ตัววัดความสำเร็จที่สำคัญที่สุดในกีฬาสเก็ตน้ำแข็งลีลานั้นแท้จริงไม่ใช่เชื้อชาติแต่อย่าง แต่คือจำนวนชั่วโมงในการฝึกฝนบนลานน้ำแข็งต่างหาก

XS
SM
MD
LG