ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ประวัติ 'วันชาติอเมริกา' ประกาศอิสรภาพสหรัฐฯ 4 กรกฎาคม


หลายคนคงคุ้นเคยกับวันที่ 4 กรกฎาคมของทุกปี ที่ชาวอเมริกันจะฉลอง วันประกาศอิสรภาพ หรือ Independence Day โดยวันนี้ถือเป็นวันหยุดประจำปีทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1941

เว็บไซต์ History.com ระบุว่า ความเป็นจริงนั้น การฉลองวันประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อศตวรรษที่ 18 โดยในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 หรือเมื่อ 245 ปีที่แล้ว สภาแห่งภาคพื้นทวีป (Continental Congress) หรือ สภาฟิลาเดลเฟีย ลงมติเห็นชอบให้ประกาศอิสรภาพของประเทศ และ 2 วันต่อมา ผู้แทนจากรัฐอาณานิคมของอังกฤษ 13 รัฐเข้าร่วมลงนามการประกาศอิสรภาพอย่างเป็นทางการ โดยเอกสารสำคัญในการนี้ถูกร่างขึ้นโดย โธมัส เจฟเฟอร์สัน

และตั้งแต่ปี ค.ศ. 1776 ชาวอเมริกันทำการเฉลิมฉลองวันสำคัญนี้สืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน ด้วยกิจกรรมมากมาย ทั้งการจุดพลุ การเดินขบวนพาเหรด และคอนเสิร์ตต่าง ๆ ไปจนถึงการร่วมวงรับประทานอาหาร โดยเฉพาะบาร์บีคิว ภายในครอบครัว

the Declaration of Independence
the Declaration of Independence

ประวัติของวันประกาศอิสรภาพ

เมื่อช่วงเริ่มต้นของสงครามปฏิวัติอเมริกัน (Revolutionary War) เมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 1775 รัฐอาณานิคมหลายแห่งไม่ได้มีความต้องการจะได้อิสรภาพอย่างเต็มตัวจากอังกฤษ กระทั่งเวลาล่วงเลยมาอีกกว่าปี ที่หลายฝ่ายเริ่มต้องการแยกตัวเต็มที่ เนื่องจากความไม่พอใจต่ออังกฤษที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง จนถึงวันที่ 6 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1776 ที่มีการประชุมสภาแห่งภาคพื้นทวีป ที่อาคารที่ทำการรัฐเพนซิลเวเนีย (ซึ่งภายหลังถูกเปลี่ยนชื่อเป็น หออิสรภาพ - Independence Hall) ในเมืองฟิลาเดลเฟีย และ ริชาร์ด เฮนรี่ ลี ผู้แทนจากเวอร์จิเนีย เสนอญัตติให้รัฐอาณานิคมประกาศตัวเป็นอิสระ ซึ่งมีการอภิปรายอย่างดุเดือดจนต้องเลื่อนการลงมติออกไป แต่แต่งตั้งคณะกรรมาธิการที่มีสมาชิก 5 คน รับหน้าที่ร่างแถลงการณ์แสดงเหตุผลของการแยกตัวออกจากอังกฤษ

ต่อมา ในวันที่ 2 กรกฎาคม สภาฯ ได้ลงมติเห็นชอบการแยกตัวนี้ และ ริชาร์ด เฮนรี่ ลี ผู้เสนอญัตตินี้ เขียนจดหมายถึงภรรยาของเขาว่า วันที่ 2 กรกฎาคม “จะเป็นวันที่มีการฉลองใหญ่ซึ่งจะสืบเนื่องต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น” ก่อนที่สภาแห่งภาคพื้นทวีปจะประกาศอิสรภาพอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งกลายมาเป็นวันชาติอย่างเป็นทางการสืบมา

การเฉลิมฉลองวันชาติสหรัฐฯ ในช่วงแรก

ก่อนที่เกิดสงครามปฏิวัติอเมริกัน ประชาชนในรัฐอาณานิคมทั้งหลายฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษาขององค์กษัตริย์แห่งอังกฤษ ด้วยการสั่นระฆัง ร่วมงานชุมนุมรอบกองไฟ และร่วมหรือชมขบวนแห่ เป็นต้น

แต่เมื่อถึงช่วงราวกลางปี ค.ศ. 1776 งานรื่นเริงสำคัญประจำปีของเหล่ารัฐอาณานิคมในการเฉลิมฉลองการเริ่มต้นของอิสรภาพกลายมาเป็นการจำลองงานพระราชพิธีพระบรมศพของพระเจ้าจอร์จที่ 3 ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปแบบของงานรื่นเริงอย่างที่กล่าวมาข้างต้นในปีต่อมา

งานแสดงดอกไม้ไฟของวันที่ 4 กรกฎาคม

ประเพณีการจุดพลุหรือดอกไม้ไฟเพื่อฉลองวันประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกานั้น เริ่มต้นครั้งแรกที่เมืองฟิลาเดลเฟีย เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1777 โดยเป็นการยิงปืนใหญ่ 13 ครั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่รัฐอาณานิคมทั้ง 13 รัฐ ก่อนที่จะกลายมาเป็นการจุดดอกไมไฟขึ้นฟ้าในเวลาต่อมา

President Donald Trump, first lady Melania Trump, Vice President Mike Pence and Karen Pence and others stand as the US Army Band performs and the US Navy Blue Angels flyover at the end of an Independence Day celebration in front of the Lincoln Memorial, J
President Donald Trump, first lady Melania Trump, Vice President Mike Pence and Karen Pence and others stand as the US Army Band performs and the US Navy Blue Angels flyover at the end of an Independence Day celebration in front of the Lincoln Memorial, J

การประกาศให้วันที่ 4 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันหยุดแห่งชาติ

ประเพณีการฉลองความรักชาติของชาวอเมริกันเริ่มเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางหลังสงคราม ค.ศ. 1812 ซึ่งเป็นช่วงที่สหรัฐฯ เผชิญหน้ากับอังกฤษอยู่ แต่การประกาศให้วันที่ 4 กรกฎาคมเป็นวันหยุดแห่งชาตินั้นเกิดขึ้นเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1870 โดยสภาคองเกรส

และแม้ในช่วงหลายปีหลังจากนั้น ความสำคัญของวันหยุดต่างๆ ในแง่ของการเมืองจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ วันประกาศอิสรภาพยังคงเป็นวันสำคัญของประเทศและสัญลักษณ์ของความรักชาติอย่างไม่เสื่อมคลาย

และเนื่องจากวันที่นี้ตรงกับช่วงกลางฤดูร้อน วันที่ 4 กรกฎาคมของทุกปีกลายมาเป็นจุดสนใจของกิจกรรมสันทนาการมากมายตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เรื่อยมา โดยสมาชิกในครอบครัวชาวอเมริกันจะถือโอกาสกลับมาใช้เวลาร่วมกัน ด้วยการชมการแสดงดอกไม้ไฟและรับประทานบาร์บีคิวนอกบ้านกันอย่างคึกคัก โดยมีสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การประดับธงชาติอเมริกัน และการบรรเลงเพลง The Star-Spangled Banner ซึ่งเป็นเพลงชาติประกอบนั่นเอง

XS
SM
MD
LG