ลิ้งค์เชื่อมต่อ

โทษประหารชีวิต 'อดีตประธานาธิบดีมูชาร์ราฟ' สร้างความตึงเครียดระหว่างกองทัพปากีสถานกับฝ่ายตุลาการ


Pervez Musharaf
Pervez Musharaf
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:04 0:00

ปากีสถานเป็นประเทศที่อยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลทหารกับรัฐบาลพลเรือนสลับกันไปมา แต่ในช่วงไม่กี่ปีหลังนี้ นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลพลเรือนสามารถอยู่ในตำแหน่งได้จนครบวาระ และเป็นครั้งแรกด้วยที่อดีตผู้นำรัฐบาลทหารของปากีสถานถูกศาลตัดสินประหารชีวิตในความผิดข้อหาทรยศต่อชาติ จากการยกเลิกรัฐธรรมนูญและปกครองประเทศด้วยภาวะฉุกเฉินเมื่อปี 2550

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายมุสตาฟา นาวาซ โคคา วุฒิสมาชิกสังกัดพรรคประชาชนปากีสถานซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้ชี้ว่าคำตัดสินของศาลในเรื่องนี้นับเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่จะทำให้ผู้ปกครองซึ่งมาจากการฉกฉวยโอกาสทุกคนยากที่จะละเลยได้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งถูกโค่นล้มลงด้วยกำลังและรัฐธรรมนูญถูกยกเลิก แต่หลังจากที่ประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยแล้ว เสียงเรียกร้องให้มีการนำตัวผู้ฉีกรัฐธรรมนูญมาลงโทษนั้นย่อมตามมา

แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ประธานาธิบดีเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ อดีตผู้นำกองทัพปากีสถานถูกตัดสินประหารชีวิต เช่น นายเชาว์ดรี ฟาวาด ฮุสเซน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของปากีสถาน ได้แย้งว่า ไม่ว่ารัฐสภาจะกำหนดบทบัญญัติเพื่อป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญไว้อย่างไร หรือกำหนดบทลงโทษอย่างรุนแรงแค่ไหนก็ตาม กลไกดังกล่าวจะไม่สามารถป้องกันการใช้อำนาจเข้าแทรกแซงของทหารได้ หากผู้นำรัฐบาลพลเรือนมีปัญหาหรือทำงานล้มเหลว และว่า รัฐบาลพลเรือนจะต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการสร้างผลงาน

จุดยืนของนักการเมืองทั้งสองที่สนับสนุนและไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินประหารชีวิตพลเอกเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ อดีตผู้นำกองทัพที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของปากีสถานนี้สะท้อนถึงการแตกแยกทางความคิดในสังคมปากีสถานในปัจจุบัน

โดยฝ่ายหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของพรรคฝ่ายค้าน กลุ่มด้านสิทธิมนุษยชนและกลุ่มประชาสังคม ในขณะที่อีกฝ่ายสะท้อนความเห็นของรัฐบาลซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดอยู่กับกองทัพ

สำหรับจุดยืนในส่วนของกองทัพปากีสถานเองนั้น คำแถลงของกองทัพระบุว่า นายทหารระดับต่าง ๆ ของปากีสถานได้ทราบถึงคำตัดสินนี้ด้วยความเจ็บปวดว่า พลเอกเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ ผู้เคยเป็นทั้งผู้บัญชาการกองทัพบก ประธานคณะผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วม และประธานาธิบดีของปากีสถาน ซึ่งรับใช้ชาติมากกว่า 40 ปี ไม่สมควรจะถูกเรียกว่าเป็น "ผู้ทรยศต่อชาติ"

ดูเหมือนว่าคำตัดสินของศาลพิเศษปากีสถานให้ประหารชีวิตอดีตประธานาธิบดีเปอร์เวซ มูชาร์ราฟ ในข้อหาล้มล้างรัฐธรรมนูญนี้ จะยิ่งตอกย้ำความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับฝ่ายตุลาการ เพราะเมื่อเดือนที่แล้ว ศาลของปากีสถานได้มีคำวินิจฉัยว่าการต่ออายุการทำงานของผู้บัญชาการทหารบกปากีสถานออกไปอีกสามปีไม่ถูกต้องตามกฏหมาย

ขณะที่ผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับฝ่ายตุลาการของปากีสถานอาจจะยังไม่ชัดเจนก็ตาม แต่สิ่งที่สามารถคาดหวังได้ก็คือ ศาลสูงสุดหรือศาลฎีกาของปากีสถานจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในขั้นต่อไปว่าจะยืนยันคำตัดสินประหารชีวิตของศาลพิเศษ จะมีคำวินิจฉัยให้ลดโทษ หรือกลับคำตัดสินโดยสิ้นเชิงด้วยเหตุผลในแง่ข้อกฎหมาย

และเรื่องดังกล่าวจะนับเป็นปัญหาท้าทายสำคัญ ที่รอการตัดสินใจของประธานศาลฎีกาซึ่งจะเป็นประมุขฝ่ายตุลาการคนใหม่ของปากีสถานอยู่

XS
SM
MD
LG