ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของแอฟริกาใต้กำลังลดการพึ่งพาสินค้าจากจีนและหันมาสนับสนุนสินค้าจากท้องถิ่นมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเสื้อผ้า จนกระแสดังกล่าวได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมสิ่งทอในพื้นที่ แต่กลุ่มผู้ค้าปลีกยังคงไม่มั่นใจว่า สินค้าท้องถิ่นจะมีปริมาณที่มากพอในการรองรับความต้องการที่เกิดขึ้นใหม่ได้หรือไม่
ด้วยเหตุนี้ ธงชาติแอฟริกาใต้จึงถูกนำมาใช้ในป้ายเสื้อผ้าที่วางจำหน่ายตามร้านค้าปลีกรายใหญ่ทั่วประเทศ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่า สินค้าถูกผลิตขึ้นจากท้องถิ่นจริง
รายงานของภาครัฐระบุว่า ที่ผ่านมาสิ่งทอที่จำหน่ายโดยผู้ค้าปลีกในแอฟริกาใต้มากกว่า 50% นำเข้าจากต่างประเทศ และเกือบ 60% ของการนำเข้าเหล่านั้นมาจากประเทศจีน
บริษัทเสื้อผ้า Pick n Pay เป็นหนึ่งในผู้ค้าปลีกที่เพิ่มการจัดซื้อสินค้าที่มาจากท้องถิ่นจาก 28% ในปี 2019 มาอยู่ที่ 40% ในปัจจุบัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากการหยุดชะงักของการค้าโลกในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และอัตราการว่างงานที่สูงเป็นประวัติการณ์
ผู้ค้าปลีกที่ลงนามในแผนงานของภาครัฐที่มีเป้าสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น มองว่า การเปลี่ยนแปลงนี้มีประโยชน์มากกว่าแค่การสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ด้วย
เฮเซล พิลเลย์ ผู้จัดการทั่วไปจากบริษัทเสื้อผ้า Pick n Pay กล่าวว่า “การที่สามารถผลิตสินค้าในท้องถิ่นได้ หมายความว่า เราจะสามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ค้าปลีกต่างต้องการจริง ๆ -- นั่นคือ การมุ่งหน้าทำการตอบโจทย์ได้อย่างว่องไว”
คาเตคานิ มูเรกู ดีไซเนอร์รุ่นใหม่จากแอฟริกาใต้ คือ หนึ่งในผู้ที่ถูกดึงมาช่วยในการผลักดันครั้งนี้
มูเรกู ให้ความเห็นว่า “การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้คนหันมาสนใจและตัวของเขากลายเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น และในยุคที่อัตราว่างงานอยู่ในระดับสูงมาก ผมคิดว่า เรื่องนี้(การผลักดันสินค้าท้องถิ่น)จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ เป็นการช่วยสร้างงานให้กับคนมากขึ้น ต่อไปในช่วงหลายชั่วอายุคน”
มูเรกู คาดว่าการทำงานร่วมกันระหว่างตัวเขากับบริษัท Pick n Pay ในปี 2020 ได้ช่วยสร้างงานราว 1,000 ตำแหน่ง ตั้งแต่พนักงานฝ่ายการผลิตไปจนถึงเจ้าหน้าที่การตลาดดิจิทัล
ภายในปี 2030 รัฐบาลแอฟริกาใต้ตั้งเป้าที่จะสร้างงานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอให้ได้ 121,000 ตำแหน่ง
อย่างไรก็ดี ผู้ค้าปลีกชี้ว่า การที่จะไปถึงจุดนั้นได้ต้องมีการลงทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อช่วยฝึกอบรมทักษะและสนับสนุนผู้ประกอบการด้วย
พิลเลย์ จากบริษัท Pick n Pay อธิบายว่า “ถ้าเป็นช่วงก่อนปี 2000 เรามีแรงงานที่มีทักษะพร้อมอยู่ในตลาด แต่เมื่อมีการย้ายฐานการผลิตไปที่จีน การพัฒนาแรงงาน รวมถึงการลงทุนในเครื่องจักรต่าง ๆ ก็ยุติไป ... แต่เมื่อเรามองอนาคตของธุรกิจท้องถิ่นใน 10 ปีข้างหน้า ก็จะเห็นว่า สายการผลิตในพื้นที่ น่าที่จะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น”
ขณะที่ กลุ่มผู้ค้าปลีกตั้งเป้าว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า วัตถุดิบสำหรับสินค้าสิ่งทอจะมาจากภายในประเทศถึง 60% นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า การตั้งเป้าหมายเพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถช่วยฟื้นอุตสาหกรรมดังกล่าวขึ้นมาได้
เดวี รูดท์ หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์จากบริษัท Efficient Group ให้คำแนะนำว่า “หากจะดึงดูดให้มีการลงทุนในภาคสิ่งทอและอุตสาหกรรมท้องถิ่นมากขึ้น รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องดำเนินการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น อย่างเช่น ตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานว่า สามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสม และสร้างความมั่นใจว่า การลงทุนในแอฟริกาใต้มีความปลอดภัย”
ทั้งนี้ เหตุการณ์ตัดไฟฟ้าและสภาพทางเดินรถไฟที่ชำรุดทรุดโทรม คือ ตัวอย่างของโครงสร้างพื้นฐานที่มีปัญหา และอาจเป็นอุปสรรคสำหรับธุรกิจท้องถิ่น ทั้งในแง่การผลิตและการขนส่ง นอกจากนี้ ยังมีอุปสรรคด้านอื่น ๆ ที่จะส่งผลลบต่อการแข่งขันด้านการค้า ซึ่งแอฟริกาใต้ขาดดุลให้จีนสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์
รูดท์ ยังมองว่า อีกปัจจัยที่สำคัญคือ “การประหยัดต่อขนาด” หรือ “Economies of Scale” ซึ่งเป็นมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ที่ชี้ว่า การสั่งผลิตของในครั้งหนึ่งเป็นจำนวนมากจะทำให้ต้นทุนในการผลิตนั้นถูกลง ซึ่งในกรณีของแอฟริกาใต้ เมื่อเทียบกับจีนแล้ว ถือว่าเป็นประเทศที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ทำให้การแข่งขันด้วยนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก
อย่างไรก็ตาม การหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตในท้องถิ่น แม้จะเป็นความพยายามเพียงเล็กน้อย ถือว่า เป็นการหยิบยื่นความหวังให้กับธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ ที่จะสร้างความสำเร็จในอนาคตได้ต่อไป
- ที่มา: วีโอเอ