ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ท่าทีอันหลากหลายจากเกาหลีเหนือต่อข้อเสนอยุติสงคราม 


Visitors walk by a map of two Koreas showing North Korea's capital Pyongyang and South Korea's capital Seoul at the Imjingak Pavilion in Paju, near the border with North Korea, South Korea, Sept. 24, 2021.
Visitors walk by a map of two Koreas showing North Korea's capital Pyongyang and South Korea's capital Seoul at the Imjingak Pavilion in Paju, near the border with North Korea, South Korea, Sept. 24, 2021.

ในสัปดาห์นี้ ทางการเกาหลีเหนือออกแถลงการณ์ต่อท่าทีของเกาหลีใต้ ที่เน้นย้ำว่าต้องการยุติสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการ

ประธานาธิบดีมุน แจ อิน ของเกาหลีใต้ เรียกร้องอีกครั้งในสัปดาห์นี้ให้มีการประกาศยุติสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการเพื่อพยายามขับเคลื่อนการเจรจาระหว่างสองเกาหลีที่ยังไม่มีความคืบหน้า

นายริ เท ซอง รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของเกาหลีเหนือ ระบุในสื่อทางการของเกาหลีเหนือเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ข้อเรียกร้องให้ยุติสงครามนี้เกิดขึ้นเร็วเกินไปในขณะที่สหรัฐฯ ยังมี “นโยบายที่เป็นปฏิปักษ์” ต่อเกาหลีเหนือ โดยเขาระบุว่าสหรัฐฯ ยังมีกองกำลังและอาวุธทั้งในเกาหลีใต้และในพื้นที่อื่นของภูมิภาคนี้


อย่างไรก็ตาม เพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อมา คิม โย จ็อง น้องสาวของนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ออกแถลงการณ์ระบุว่า การเรียกร้องให้ยุติสงครามเป็นแนวคิดที่น่าสนใจและน่าชื่นชม เธอยังเสนอให้มีการหารือกับเกาหลีใต้ถึงประเด็นนี้ด้วย

หาประโยชน์จากความเห็นที่ไม่ตรงกัน

แม้แถลงการณ์ฉบับก่อนหน้าของเกาหลีเหนือจะเรียกร้องให้สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากเอเชียตะวันออก ซึ่งอาจเป็นคำขอที่เป็นไปไม่ได้ แต่ท่าทีของน้องสาวผู้นำเกาหลีเหนือดังกล่าวก็เพียงเรียกร้องให้เกาหลีใต้ปรับท่าทีต่อเกาหลีเหนือเท่านั้น

นายโก มย็อง ฮยุน นักวิจัยของสถาบัน Asan Institute for Policy Studies ระบุว่า แถลงการณ์ที่มีลักษณะขัดแย้งกันทั้งสองฉบับ แสดงให้เห็นถึงยุทธศาสตร์ของเกาหลีเหนือที่พยายามจะใช้ประโยชน์จากความเห็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้

เขาระบุว่า ท่าทีของเกาหลีเหนือเป็นการเรียกร้องความสนใจจากสหรัฐฯ และเป็นการใช้ประโยชน์จากผู้นำเกาหลีใต้คนปัจจุบัน ที่ต้องการเริ่มเจรจากับเกาหลีเหนือใหม่ก่อนที่นายมุนจะหมดวาระลงในปีหน้า

นายโกระบุว่า ท่าทีของเกาหลีเหนือครั้งนี้ “ฉลาดและมีความเสี่ยงต่ำ” กว่าการทดลองขีปนาวุธวิถีโค้งพิสัยไกล

FILE - Incoming commander, Gen. Paul J. LaCamera, right, and outgoing commander, Gen. Robert B. Abrams, center, during a change-of-command ceremony at Barker Field in Pyeongtaek, South Korea, July 2, 2021.
FILE - Incoming commander, Gen. Paul J. LaCamera, right, and outgoing commander, Gen. Robert B. Abrams, center, during a change-of-command ceremony at Barker Field in Pyeongtaek, South Korea, July 2, 2021.

ความเป็นไปได้ที่จะประกาศยุติสงครามเกาหลีเป็นประเด็นที่สหรัฐฯ และเกาหลีใต้เห็นไม่ตรงกัน แม้ส่วนใหญ่จะเป็นความขัดแย้งที่ไม่ปรากฎชัดก็ตาม

พลเรือตรีจอห์น เคอร์บี โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุในสัปดาห์นี้ว่า สหรัฐฯ เปิดรับการหารือความเป็นไปได้ในการประกาศยุติสงคราม

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพฤหัสบดี นายมาร์ค แลมเบิร์ต รองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการญี่ปุ่นและเกาหลี แสดงท่าทีที่สหรัฐฯ ยังไม่เต็มใจต่อการประกาศดังกล่าว โดยสหรัฐฯ กังวลว่า การกระทำใดๆ จะต้องไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อเกาหลีเหนือ และต้องไม่เป็นอันตรายต่อกองกำลังของสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ หรือต่อความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ-เกาหลีใต้

ข้อเรียกร้องที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้หลายชุดได้เรียกร้องเป็นระยะให้มีการดำเนินการเพื่อยุติสงครามเกาหลีอย่างเป็นทางการ โดยการประกาศยุติสงครามหรือการเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพ

สงครามเกาหลีเกิดขึ้นช่วงปีค.ศ. 1950-1953 และยุติลงด้วยการประกาศพักรบ นับแต่นั้นมา สหรัฐฯ ยังคงตรึงกองกำลังขนาดใหญ่ในเกาหลีใต้ โดยปัจจุบันมีทหารอเมริกันประจำการอยู่ราว 28,500 คน

ผู้สนับสนุนการยุติสงครามระบุว่า การประกาศยุติสงครามจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นสำหรับเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ระบุว่า การประกาศดังกล่าวจะเป็นเพียงพิธีกรรมหนึ่ง และอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้สั่นคลอน ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวช่วยรักษาสภานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลีมาได้ถึง 70 ปีแล้ว

แนวคิดยุติสงครามได้รับความสนใจในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยพลเอกวินเซนต์ บรูกส์ อดีตพลเอกของสหรัฐฯ ประจำเกาหลีใต้ ระบุว่า การประกาศยุติสงครามจะเป็นก้าวแรกสู่การสาน “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบปกติ” กับเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตามความเป็น พันธมิตรระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีใต้ก็อาจได้รับความเสี่ยงไปด้วย


การเจรจาที่หยุดชะงัก

ก่อนหน้านี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดการณ์ว่า จะมีการประกาศยุติสงครามระหว่างการประชุมสุดยอดระหว่างอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และนายคิม จอง อึน ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เมื่อปีค.ศ. 2019

อย่างไรก็ตาม การประชุมดังกล่าวกลับยุติลงอย่างกะทันหัน หลังสหรัฐฯ ไม่รับข้อเสนอของเกาหลีเหนือในการลดอาวุธนิวเคลียร์บางส่วนเพื่อแลกกับการที่สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการลงโทษส่วนใหญ่ ต่อมาในปีเดียวกัน การเจรจาระหว่างสหรัฐฯและเกาหลีเหนือก็ล้มเหลวลง

นับแต่นั้นมา เกาหลีเหนือก็ปฏิเสธการหารือกับสหรัฐฯ แม้ว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเสนอโอกาสเพื่อการเจรจาหลายครั้งแล้วก็ตาม

รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบัน ระบุว่า จะดำเนินการทางการทูตต่อเกาหลีเหนืออย่างรอบคอบ และจะเปิดรับข้อตกลงหากช่วยสร้างความเชื่อมั่นระหว่างสองฝ่ายได้ อย่างไรก็ตาม พลเอกแลมเบิร์ตระบุว่า สหรัฐฯ ไม่ได้รับการตอบสนองจากเกาหลีเหนือต่อข้อเสนอขอเจรจาเลย

นักวิเคราะห์บางส่วนตั้งคำถามว่า รัฐบาลของนายไบเดนมีท่าทีเชิงรุกมากพอในการขอเจรจากับเกาหลีเหนือหรือไม่ โดยพวกเขาเห็นว่า สหรัฐฯ อาจกลับไปใช้นโยบาย “อดกลั้นทางยุทธศาสตร์” ที่เคยใช้ในสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งเป็นนโยบายที่ค่อยๆ เพิ่มแรงกดดันไปยังเกาหลีเหนือเพื่อให้เกาหลีเหนือกลับมาเข้าร่วมโต๊ะเจรจา อย่างไรก็ตาม พลเอกแลมเบิร์ตยืนยันว่า สหรัฐฯ จริงจังต่อการเจรจาครั้งนี้มาก

สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ยังคงแนบแน่น

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเกาหลีเหนือจะหาประโยชน์จากความเห็นไม่ลงรอยกันระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ได้หรือไม่

แม้ผู้นำเกาหลีใต้จะเรียกร้องให้มีการเดินหน้า เช่น การประกาศยุติสงคราม หรือการฟื้นฟูโครงการเศรษฐกิจระหว่างสองเกาหลี แต่เขาก็ยังไม่แสดงท่าทีเคลื่อนไหวหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ

พลเอกแลมเบิร์ตระบุว่า แม้สหรัฐฯ และเกาหลีใต้จะมีประเด็นที่เห็นไม่ตรงกันด้านยุทธวิธี แต่เขาก็เห็นว่า ทั้งสองประเทศไม่น่าจะเดินไปคนละทางโดยสิ้นเชิง

XS
SM
MD
LG