สภาคองเกรสเตรียมตั้งคณะกรรมาธิการอิสระเพื่อสอบสวนเหตุจลาจลบุกอาคารรัฐสภา

FILE - Supporters of President Donald Trump gather outside the U.S. Capitol in Washington, D.C., Jan. 6, 2021.

ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี่ เพโลซี่ เปิดเผยว่า สภาคองเกรสจะแต่งตั้งคณะกรรมาธิการอิสระชุดใหม่ ที่จะปฏิบัติหน้าที่คล้ายคณะกรรมาธิการสอบสวนเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน เพื่อสอบสวนเหตุก่อจลาจลบุกอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย

Speaker of the House Nancy Pelosi, D-Calif., holds a news conference on the day after violent protesters loyal to President Donald Trump stormed the U.S. Congress, at the Capitol in Washington, Jan. 7, 2021.

นางเพโลซี่ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการใหม่นี้จะ “สืบสวนและรายงานข้อเท็จจริง และสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับการโจมตีโดยผู้ก่อการร้ายภายในประเทศ” รวมทั้ง “ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแทรกแซงกระบวนการถ่ายโอนอำนาจโดยสันติ”

ประธานสภาล่างได้ส่งจดหมายถึงสมาชิกสภาที่สังกัดพรรคเดโมแครต ซึ่งมีเนื้อความระบุว่า สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จะทำการเสนอของบประมาณค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อยกระดับการรักษาความปลอดภัยของอาคารรัฐสภาด้วย

ภายหลังจากที่วุฒิสภาสหรัฐฯ มีมติว่า อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่มีความผิดในข้อหาเป็นผู้ยุยงปลุกปั่นกลุ่มผู้สนับสนุนให้ก่อเหตุจลาจล และไม่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา สมาชิกรัฐสภาจากทั้งสองพรรคใหญ่ออกมาสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการอิสระเพื่อตรวจสอบเหตุจลาจลครั้งนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ขณะเดียวกัน รัฐสภาสหรัฐฯ ได้เริ่มวางแผนกระบวนการสอบสวนในประเด็นเหตุจลาจลบ้างแล้ว โดยคณะกรรมาธิการด้านกฎข้อบังคับวุฒิสภาได้กำหนดการไต่ส่วนกรณีดังกล่าวในช่วงปลายเดือนนี้ ส่วนประธานสภาล่างได้ขอให้ พลโท รัสเซล ออเนอเร่ นายทหารกองทัพสหรัฐฯ ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว นำทีมตรวจสอบขั้นตอนการรักษาความปลอดภัยของอาคารรัฐสภาในทันทีแล้ว

ทั้งนี้ การตั้งคณะกรรมาธิการชุดใหม่ที่จะปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับชุดที่ทำการสอบสวนเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน ปี ค.ศ. 2001 ได้นั้น น่าจะต้องมีการผ่านกฎหมายใหม่ออกมาเพื่อแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับการสืบสวนที่สูงขึ้น และครอบคลุมรายละเอียดทุกอย่างได้กว้างขึ้น

แต่บางส่วนมองว่า การตั้งคณะกรรมาธิการใหม่นี้อาจเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เสียงในสภาระหว่างสมาชิกพรรคใหญ่ทั้งสองแตกคอกันมากขึ้น หรือไม่ อาจกลายเป็นประเด็นที่กลบความสำคัญของวาระด้านนิติบัญญัติของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็เป็นได้